ตลาดหุ้นไต้หวัน เป็น Best Performer เอเชีย ไทยแย่สุด นองเลือดอยู่ท้ายตาราง

หุ้นไต้หวัน
กระดานหุ้นตลาดหุ้นไต้หวัน/ แฟ้มภาพ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2022 (ภาพโดย Sam Yeh / AFP)

เทียบผลงานตลาดหุ้นในเอเชีย-แปซิฟิกครึ่งปีแรก ตลาดหุ้นไต้หวันเป็น Best Performer ส่วนไทยแย่สุด นองเลือดอยู่ท้ายตาราง 

ซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2024 ว่า มุมมองแง่บวกต่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ผลักดันให้ตลาดหุ้นไต้หวันหลายเป็นตลาดหุ้นที่ผลการดำเนินงานดีที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิกในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 นี้

TAIEX ดัชนีหุ้นถ่วงน้ำหนักของไต้หวันเพิ่มขึ้น 28% โดยได้แรงขับเคลื่อนจากหุ้นบริษัทต่าง ๆ ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของ AI

หุ้นของบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corp : TSMC) ซึ่งมีน้ำหนักมากที่สุดในดัชนี ราคาเพิ่มขึ้น 63% ขณะที่คู่แข่งอย่าง ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในชื่อ บริษัทหองไห่พรีซีชันอินดัสทรี (Hon Hai Precision Industry) พุ่งแรงถึง 105% ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา  

“ผลการดำเนินงานของตลาดทั่วโลกในปีนี้ส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากธีมของปัญญาประดิษฐ์และนโยบายของธนาคารกลาง และมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป” ราหุล กอช (Rahul Ghosh) ผู้เชี่ยวชาญด้านพอร์ตโฟลิโอตราสารทุนระดับโลกของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที. โรว์ ไพรซ์ (T. Rowe Price) กล่าวในรายงานมุมมองการลงทุนของบริษัท 

Advertisment

เขากล่าวเสริมว่า ศักยภาพและขนาดของวงจรการลงทุน AI ยังคงขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ผลกระทบของการลงทุนเกี่ยวกับ AI กำลังขยายออกไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม วัสดุ และสาธารณูปโภค 

ดัชนี Nikkei 225 ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงของญี่ปุ่นทำผลงานดีเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย-แปซิฟิก โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ในช่วงครึ่งปีแรก 

เมื่อช่วงต้นปี Nikkei 225 พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลในเดือนกุมภาพันธ์ ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลครั้งก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 38,915.87 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1989 ก่อนที่จะพุ่งทะลุ 40,000 จุด ไปสร้างสถิติสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่ 40,888.43 จุด ในวันที่ 22 มีนาคม 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แม้ว่าไต้หวันเป็นผู้นำของตลาดหุ้นเอเชีย แต่ญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากกว่าในอนาคต 

Advertisment

ราหุล กอช กล่าวว่า มาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของญี่ปุ่นที่ได้รับการปรับปรุงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังคงส่งผลกระทบที่จับต้องได้และสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

นอกจากนี้ เบน พาวเวลล์ (Ben Powell) หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ของแบล็กร็อก (BlackRock) เขียนวิเคราะห์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ และทำให้นโยบายการเงินญี่ปุ่นกลับสู่ปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยวิธีการที่ระมัดมะวัง 

พาวเวลล์กล่าวว่า ฉากหลังทางเศรษฐกิจมหภาคของญี่ปุ่นเป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยังมีหุ้นญี่ปุ่นที่ควรเพิ่มน้ำหนัก โดยได้แรงหนุนจากโมเมนตัมการปฏิรูปบริษัทอย่างแข็งแกร่ง ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนการประเมินมูลค่าหุ้นจากอัตราดอกเบี้ยจริงที่ยังคงเป็นลบ 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในแดนบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ตลาดหุ้น 3 แห่ง คือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลับร่วงลงไปอยู่ในแดนลบ 

ซีเอ็นบีซีบรรยายว่า ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยร่วง 8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ “ถือเป็นดัชนีที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในภูมิภาค” ส่วนดัชนี JKSE ของอินโดนีเซียลดลง 2.88% ในขณะที่ดัชนี PSI ของฟิลิปปินส์ร่วงลงประมาณ 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ 

สำหรับผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เรียงจากผลงานดีสุดไปแย่สุด มีดังนี้ 

TAIEX (ไต้หวัน) +28.45%

Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) +17.56%

Nifty 50 (อินเดีย) +10.49%

BSE Sensex (อินเดีย) +9.40%

KLCI (มาเลเซีย) +9.31%

Kospi (เกาหลีใต้) +5.37%

Hang Seng (ฮ่องกง) +3.94%

Straits Times (สิงคโปร์) +2.89%

ASX 200 (ออสเตรเลีย) +2.33%

CSI 300 (จีน) +0.89%

PSI (ฟิลิปปินส์) -0.59%

JKSE (อินโดนีเซีย) -2.88% 

SET (ไทย) -8.11%