โบอิ้งปิดดีลซื้อบริษัทสปิริต แอโรฯ หวังกู้วิกฤตความปลอดภัยที่เกิดซ้ำซาก

โบอิ้ง ตกลงซื้อกิจการสปิริต แอโรฯบริษัทผลิตส่วนประกอบเครื่องบิน มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.7 แสนล้านบาท จุดประสงค์เพื่อลดปัญหาด้านความปลอดภัย อย่างประตูปลั๊กหลุดกลางอากาศ เครื่องบินตกคร่าเกือบ 350 ชีวิต จนกำไรชะลอตัวต่อเนื่อง

วันที่ 1 ก.ค. รอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โบอิ้ง (Boeing BA.N) บริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติสหรัฐบรรลุข้อตกลงที่จะซื้อกิจการบริษัทสปิริต แอโรซิสเต็มส์ บริษัทผลิตโครงสร้างเครื่องบินสัญชาติสหรัฐในมูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 แสนล้านบาท หลังจากเจรจาต่อรองมาหลายเดือนในดีลที่โบอิ้งหวังจะช่วยบรรเทาวิกฤตด้านความปลอดภัยที่เลวร้ายลง

แหล่งข่าว 2 คนที่เกี่ยวข้องกับดีลเปิดเผยว่า โบอิ้งจะจ่าย 37.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นให้สปิริตครอบคลุมทุกหุ้น หลังจากคณะกรรมการบริหารบริษัทโบอิ้งและสปิริตพบหารือและสามารถตกลงกันได้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะมีประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ดีล ซึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติตามกฎระเบียบนั้นจะส่งผลให้บริษัทสปิริตเลิกกิจการ โดยทรัพย์สินอีกจำนวนหนึ่งจะตกเป็นของบริษัทแอร์บัส (AirbusAIR.PA) ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติฝรั่งเศส ส่วนข้อกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ในข้อตกลงที่คู่ขนานสำหรับสปิริตในการที่จะขายกิจการในยุโรปให้แอร์บัสยังไม่ชัดเจน

แอร์บัส สปิริตและโบอิ้งปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวการซื้อกิจการ

Advertisment

โบอิ้งพยายามที่จะผ่านปีแห่งความยากลำบากที่เกิดจากเหตุการณ์ประตูปลั๊กเครื่องบินปลิวหลุดกลางอากาศบนเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 แม็กซ์ 9 ที่เผยให้เห็นปัญหาด้านความปลอดภัยและคุณภาพมากมาย ทำให้ผลกำไรของโบอิ้งชะลอตัวลงอย่างมาก เกิดเป็นคลื่นกระเพื่อมส่งผลทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์

ส่วนสปิริต ซึ่งผลิตประตูปลั๊กเครื่องบิน ถูกแยกออกมาจากโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในปี 2548 จนโบอิ้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เน้นลดต้นทุนมาก่อนคุณภาพ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา จากปัญหาประตูปลั๊ก บริษัทโบอิ้งจึงตัดสินใจซื้อสปิริตกลับมา ดีลครั้งนี้จึงเป็นความพยายามที่จะปฏิรูปปัญหาความปลอดภัยและค้ำยันไลน์การผลิต

สำหรับรายละเอียดข้อตกลง จากเดิมผู้บริหารสองบริษัทหารือว่าจ่ายเป็นเงินสด 35.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นสำหรับสปิริต แต่ถูกขยับราคาขึ้นมาที่ 37.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,370 บาท เมื่อข้อตกลงเปลี่ยนไปจากจ่ายเงินสดมาเป็นหุ้น

ทั้งสองดีลเทียบเท่ากับการเลิกกิจการของผู้ผลิตโครงสร้างเครื่องบินที่เป็นอิสระ แห่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งไปรับจ้างผลิตส่วนประกอบเครื่องบินให้แอร์บัสและอื่นๆ นับตั้งแต่แยกออกจากบริษัทแม่อย่างโบอิ้ง เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

Advertisment

การเข้าซื้อกิจการสปิริต จะไม่แก้ปัญหาของโบอิ้งได้ในทันที ซึ่งหลังจากปัญหาประตูปลั๊ก องค์การบริหารการบินแห่งชาติ ของสหรัฐหรือเอฟเอเอ กำหนดเพดานการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง แม็กซ์ รุ่นที่ขายดีที่สุดของบริษัท

อีกทั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐจะตั้งข้อหาอาญาในฐานความผิดฉ้อโกงต่อโบอิ้ง จากเหตุเครื่องบินตกคร่าชีวิตคน 2 ครั้ง และร้องขอให้โบอิ้งรับสารภาพผิด มิฉะนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี

โบอิ้งสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แอร์บัสเป็นเวลาหลายปี และยังคงต้องรับมือกับผลที่ตามมาจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 350 ราย บีบให้โบอิ้งต้องสั่งเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ห้ามขึ้นบิน

สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐหลายคนวิพากษ์วิจารณ์นายเดฟ คาลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอโบอิ้งในประเด็นความปลอดภัยของโบอิ้ง และถามคำถามนายคาลฮูนซ้ำ ๆ เกี่ยวกับเงินเดือนของซีอีโอ ซึ่งบริษัทโบอิ้งเองได้ส่งแผนสรุปในการแก้ปัญหาการควบคุมคุณภาพระบบของบริษัทต่อเอฟเอเอด้วยแล้ว