รัฐบาลทหารเมียนมาคุมตัวเจ้าหน้าที่อาวุโสของ “อิออน” ญี่ปุ่น 

อิออน
อิออน (ภาพโดย KAZUHIRO NOGI / AFP)
เผยแพร่ 1 ก.ค. 2024 เวลา 10.36 น. อัพเดตข้อมูลล่าสุด 1 ก.ค. 2024 เวลา 14.45 น.

รัฐบาลทหารเมียนมาคุมตัวเจ้าหน้าที่อาวุโสของเครือ “อิออน” ญี่ปุ่น ข้อหาขายข้าวราคาสูงกว่าที่ทางการกำหนด

วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานอ้างอิงเกียวโด (Kyodo) ว่า อิออน (Aeon) บริษัทผู้ประกอบการเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นกล่าวในวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคมว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของอิออนในเมียนมาถูกรัฐบาลเผด็จการทหารควบคุมตัว

อิออนแจ้งว่าเจ้าหน้าที่รายนี้ชื่อฮิโรชิ คาซามัตสึ (Hiroshi Kasamatsu) วัย 53 ปี เป็นพนักงานของบริษัท อิออน ออเรนจ์ (Aeon Orange) และเสริมว่าบริษัทจะให้ความร่วมมือกับทางการท้องถิ่นในการสืบสวน ขณะเดียวกัน ก็จะขอการช่วยเหลือจากสถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมา 

นิกเคอิรายงานเพิ่มเติมว่า ตามการรายงานของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ระบุว่า นายคาซามัตสึและชาวเมียนมาร์อีก 10 คน ถูกควบคุมตัวในข้อหาขายข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาที่ทางการกำหนดประมาณ 50% – 70% 

ทั้งนี้ การจับกุมเจ้าหน้าที่บริษัทในเครือของญี่ปุ่นในเมียนมาเกิดขึ้นแม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อทหารหรือบุคคลและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาแต่อย่างใด เหตุการณ์ดังกล่าวอาจสร้างความไม่สบายใจให้กับธุรกิจอื่น ๆ  ในประเทศเมียนมาที่มีความเชื่อมโยงกับญี่ปุ่น

Advertisment

สถานทูตญี่ปุ่นในเมียนมากล่าวว่า ทนายความคนหนึ่งซึ่งพบกับนายคาซามัตสึที่สถานีตำรวจในย่างกุ้งซึ่งเชื่อว่าเขาถูกสอบปากคำที่นั่น เล่าให้ฟังว่าเขาไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ และบอกว่า ขณะนี้สถานทูตกำลังดำเนินกระบวนการยืนยันข้อเท็จจริง แต่เรียกร้องการปล่อยตัวนายคาซามัตซึก่อน และจะให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่ อิออน ออเรนจ์ ด้วย

โยชิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) โฆษกรัฐบาลระดับสูงสุดของญี่ปุ่นกล่าวในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเป็นประจำว่า รัฐบาลกำลังเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ของอิออนโดยเร็วที่สุด และกำลังติดต่อกับบริษัท

สำหรับบริษัท อิออน ออเรนจ์ นั้น ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยอิออนจากญี่ปุ่นร่วมทุนกับ บริษัท ครีเอเชัน เมียนมา กรุ๊ป ออฟ คอมพานีส์ (Creation Myanmar Group of Companies) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกในเมียนมา 

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารซึ่งมีการต่อต้านอย่างกว้างขวางต่อการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร กลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง และทำลายล้างเศรษฐกิจของเมียนมา 

Advertisment

รัฐบาลทหารเมียนมาพยายามสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดด้วยการกำหนดราคาสินค้าที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงข้าว และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงสำหรับสกุลเงินจ๊าตของเมียนมา ซึ่งอ่อนค่าลงอย่างมากนับตั้งแต่รัฐประหาร อย่างไรก็ตาม มีช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างอัตราอย่างเป็นทางการและราคากับอัตราจริงในพื้นที่