รมว.ต่างประเทศเผยผลเยือนกัมพูชา สัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งกว่าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

มาริษ เสงี่ยมพงษ์
มาริษ เสงี่ยมพงษ์

มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศเผยเยือนกัมพูชาประสบความสำเร็จด้วยดี มองไทย-กัมพูชาใกล้ชิดยิ่งกว่าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ มุ่งต่อยอดความร่วมมือเป็นรูปธรรมในอนาคต 

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเดินทางเยือนกัมพูชา ซึ่งได้เข้าเยี่ยมคาราวะสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา มีการหารือเต็มคณะกับนายซก เจินดาโซเพีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงพบปะกับนักธุรกิจไทยในกัมพูชาและทีมประเทศไทยในกัมพูชา

รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า การเยือนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี กัมพูชาให้เกียรติไทยเป็นอย่างมาก ได้พบกับผู้นำกัมพูชาระดับสูงสุด รวมถึงผู้ปฏิบัติ แสดงให้เห็นความมั่นคงและความไว้เนื้อเชื่อใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเห็นความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองประเทศที่ดีอยู่แล้วให้ยิ่งดีขึ้นไปอีกในทุก ๆ ระดับ

“การหารือก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ครอบคลุมสาขาความสัมพันธ์ในทุกมิติ และความร่วมมือในทุกด้าน การหารือในทุกระดับย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ไทยก็แสดงออกให้ฝ่ายกัมพูชาเห็นชัดเจนว่าไทยให้ความสำคัญกับกัมพูชา ความสัมพันธ์ที่ดีในระดับผู้นำช่วยเสริมกันให้เกิดสิ่งที่เราอยากจะเห็น จึงเชื่อมั่นมากว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาจะก้าวไปสู่ระดับที่สูงมาก ๆ ต่อไป ไม่ใช่แค่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ แต่จะมีความใกล้ชิดกันประหนึ่งเป็นพี่น้อง เพราะเราก็เป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกันทางเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม” 

รัฐมนตรีกล่าวอีกว่า การเยือนครั้งนี้ยังได้ติดตามความคืบหน้าในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือกันในหลายโอกาส โดยเฉพาะการผลักดันความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่แนบแน่นขึ้นไปในทุกมิติ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะมีแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และยุทธศาสตร์ (Strategy) ที่ชัดเจน

Advertisment

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ขอบคุณไทยที่ให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่สงขลา ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีได้ขอบคุณสำหรับการอำนวยความสะดวกในการเตรียมเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เสียมราฐ ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า ไม่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจะดีเยี่ยมเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชนที่แน่นแฟ้นก็แสดงให้เห็นผ่านเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะพยายามเปิดสถานกงสุลใหญ่ให้ได้ภายในปีนี้ 

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต้องการจะบรรลุเป้าหมายด้านการค้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ทั้งยังต้องทำให้มั่นใจว่าตัวเลขนี้จะสะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศอย่างเป็นธรรมด้วย เพราะสองประเทศสามารถที่จะวิน-วินด้วยกัน ตนอยากเห็นการค้าและการลงทุนดำเนินไปด้วยกัน เพราะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ได้หารือมาก่อนแล้ว ซึ่งภาคเอกชนไทยก็มีบทบาทมาก

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกัน หรือพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ซึ่งเป็นจุดประสงค์ใหญ่ของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐาต้องการเห็นทั้งการค้าโดยธรรมชาติและการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น การมี SEZ ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จะอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องการค้าชายแดนและการลงทุน แต่ต้องไปหารือรายละเอียดทางเทคนิคอีกครั้งว่าจะขยายไปถึงระดับไหน โดยคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) จะดูแลเรื่องนี้ต่อไป

นายมาริษกล่าวอีกว่า การหารือยังครอบคลุมเรื่องการอำนวยความสะดวกในการข้ามแดนของประชาชนและสินค้าอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยไทยพร้อมร่วมกันโปรโมตให้นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามแดนเพื่อไปท่องเที่ยวในกัมพูชาด้วย เมื่อเรามีความร่วมมือใกล้ชิด ความสัมพันธ์จะหยั่งรากลึกมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการรวมตัวกันของประชาชนต่อประชาชนให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นด้วย 

Advertisment

“ชายแดนยังมีปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าปัญหาหมอกควัน ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ออนไลน์สแกม การค้ายาเสพติด ไทย-กัมพูชาต้องกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น และบูรณาการแผนต่าง ๆ ให้สอดรับกันให้ได้” 

รมว.ต่างประเทศบอกอีกว่า ยังได้หยิบยกเรื่องการดำเนินการเพื่อเฉลิมฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่กำลังจะมาถึง โดยจะส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยในกัมพูชา และการพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) 

“ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่ไทยพยายามมองให้ครบทุกมิติ ทั้งด้านการเมืองซึ่งดีอยู่แล้ว ด้านเศรษฐกิจที่จะก้าวไปเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในเรื่องการค้าการ ลงทุน และมิติด้านสังคมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชนให้ดียิ่งขึ้น” 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการหารือเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล (OCA) ไทย-กัมพูชาด้วยหรือไม่ รัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอยากเห็นความร่วมมือในการนำพลังงานที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ เพราะถ้ายังไม่ทำ โอกาสที่ทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ตรงนี้จะหายไป แต่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็บอกว่าเข้าใจว่าไทยก็คงมีความระมัดระวัง เข้าใจมุมมองของไทยเรื่องของความละเอียดอ่อน พร้อมสนับสนุนไทยในทุก ๆ ด้าน พร้อมที่จะเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้นำเอาทรัพยากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากขึ้นมาใช้ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 

“ได้พูดกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาชัดเจนว่า ขอให้สบายใจเพราะเป็นเป้าหมายของรัฐบาลไทยอยู่แล้วที่จะร่วมมือกันพัฒนา นำเอาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีการทำให้เข้าใจผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้าใจ ไทยพร้อมจะมีความร่วมมือ แต่เนื่องจากมีประเด็นสำคัญทางเทคนิคมาก จึงต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องเทคนิคทั้งในเรื่องกฎหมายและพลังงาน การสำรวจการผลิตก็ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยทั้งหมดต้องให้เป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายคุยกันในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปี 2544 คือปัญหาเขตแดนและการพัฒนาพลังงานต้องไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกอย่างมีความโปร่งใสและเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศโดยรวม” รมว.ต่างประเทศกล่าว