เส้นทาง “หยวน” ยังอีกไกล สู่เป้าหมาย “สกุลเงินโลก” แถวหน้า

yuen
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มภาคฤดูร้อน หรือที่เรียกว่า “ดาวอสฤดูร้อน” ปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองต้าเหลียน ของจีน มีการพูดถึงหลากหลายประเด็นที่กำลังเป็นกระแส หนึ่งในนั้นก็คือความเป็นไปได้ที่เงิน “หยวน” ของจีนจะขึ้นแท่นเป็นสกุลเงินที่มีการใช้เป็นวงกว้างมากขึ้นในระดับโลก หลังจากที่จีนได้ป่าวประกาศมานาน ถึงความทะเยอทะยานที่จะให้มีการใช้เงินหยวนแพร่หลาย จากปัจจุบันที่มีดอลลาร์สหรัฐครองโลกอยู่

หลังจากสหรัฐแซงก์ชั่นรัสเซียด้วยการแบนการทำธุรกรรมด้วยดอลลาร์ และอายัดทรัพย์สินของรัสเซียในรูปดอลลาร์ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อบางประเทศที่อยากเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ เพราะเกรงว่าจะถูกสหรัฐลงโทษแบบเดียวกัน จึงทำให้เกิดความหวังว่าเงินหยวนมีโอกาสจะได้รับความนิยมมากขึ้น

“บอนนี่ ชาน” ซีอีโอตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงระบุว่า หากต้องการให้เงินหยวนถูกใช้แพร่หลายมากขึ้นในระดับโลก จำเป็นต้องมีทางเลือกมากกว่าเข้าช่วย เช่นในรูปของพันธบัตรหรือหุ้น เพราะประชาชนหรือนักลงทุนถือเงินไว้สำหรับการค้า หรือเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ที่ไม่ใช่เพียงแค่เอาเงินไปฝากไว้ที่ธนาคาร แต่จำเป็นต้องมีพันธบัตร มีหุ้น และอื่น ๆ เป็นทางเลือก ซึ่งเราได้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์สำคัญเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการอนุญาตให้ผู้ลงทุนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงสามารถเทรดหุ้นโดยใช้เงินดอลลาร์ฮ่องกงหรือเงินหยวนก็ได้ หรือที่เรียกว่า HKD/RMB Dual Counter เพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกเห็นทางเลือกที่มากขึ้นในการสร้างความมั่งคั่งในรูปเงินหยวน

โครงการ HKD/RMB Dual Counter ของตลาดหุ้นฮ่องกง มีเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนที่ถือครองเงินหยวนไว้นอกประเทศจีน โดยกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักลงทุนที่มีเงินหยวนฝากไว้ในฮ่องกง ซึ่ง ณ ปีที่แล้วมีประมาณ 8.33 แสนล้านหยวน เพราะนักลงทุนเหล่านี้มองหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดหุ้น นอกจากนั้น ก็หวังดึงดูดผู้ถือครองเงินหยวนที่เป็นคู่ค้าของจีน เช่น รัสเซีย ปากีสถาน ตะวันออกกลาง

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินหยวนอยู่ในฐานะสกุลเงินที่มีการใช้ชำระมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เมื่อวัดตามมูลค่า หรือคิดเป็นเกือบ 4.5% ของการชำระเงิน (Global Payments) ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนเกือบ 48%

Advertisment

แต่ในแง่ของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เงินหยวนอยู่อันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 5.1% รองจากยูโร ซึ่งมีสัดส่วน 5.6% ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐยังครอบงำตลาดด้วยสัดส่วนเกือบ 85%

แม้เงินหยวนจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่มีหลายอย่างที่จีนต้องขจัดอุปสรรคออกไป โดย “เฟรด หู” ซีอีโอ พรีมาเวร่า แคปิตอล ชี้ว่า การทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาด แม้ว่าทางการจีนจะออกแถลงการณ์อยู่บ่อย ๆ ถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเงินหยวน เพราะถึงแม้จีนจะเป็นชาติที่ทำการค้าขนาดใหญ่ที่สุดและมีศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ แต่ตลาดการเงินยังไม่ใหญ่ไม่ลึกเท่าสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น จีนก็มีบัญชีทุนแบบปิด ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินหยวนไปเป็นสกุลอื่นได้แบบเสรีเต็มที่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอุปสรรคในการทำให้เงินหยวนเป็นสากล

ในเวทีเดียวกัน นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวสุนทรพจน์เตือนว่า หากประเทศต่าง ๆ คิดถึงประโยชน์ของตัวเองสูงสุด และไม่สนใจผลประโยชน์ของประเทศอื่น และกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ แยกตัวออกจากกันในทางเศรษฐกิจ จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งโลกสูงขึ้น ลากประเทศต่าง ๆ เข้าสู่วงจรอุบาทว์ โดยที่ทุกคนเข้าไปแย่งเค้กที่ก้อนเล็กลงเรื่อย ๆ พร้อมกันนี้ ผู้นำจีนยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของตะวันตกเรื่องการผลิตสินค้ามากเกินไป

Advertisment

อีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจบริษัทจีนในสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดยหอการค้าจีนในสหรัฐ พบว่าเกือบ 60% ตั้งเป้าจะคงระดับการลงทุนเอาไว้ อีก 30% มีแผนจะเพิ่มการลงทุน แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะตึงเครียดมาก แต่บริษัทจีนเหล่านี้ยังมองในมุมบวกเกี่ยวกับรายได้ในระยะยาว

ขณะเดียวกัน เมื่อถามมุมมองเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในสหรัฐ พบว่ามากกว่า 60% ของบริษัทจีนเหล่านี้มองว่าสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจย่ำแย่ลง ส่วนความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ยังไม่มีทางออก ทั้งด้านการเมืองและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ บริษัทจีนมีความกังวลเพิ่มเป็น 93% สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งมี 81%