สิงคโปร์ยึดทรัพย์คดีฟอกเงิน-อาญาได้ 6,000 ล้านเหรียญ ในเวลา 5 ปี

สิงคโปร์

สิงคโปร์ยึดทรัพย์คดีฟอกเงินและคดีอาญาได้ 6,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 162,830 ล้านบาท) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคืนให้ผู้เสียหายแล้ว เดินหน้าเข้มมาตรการรับมือความเสี่ยงหลังประสบปัญหาถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน

วันที่ 26 มิถุนายน 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ทางการสิงคโปร์เผยแพร่รายงานซึ่งกำหนดแนวทางเรียกคืนทรัพย์สินผิดกฎหมายว่า สิงคโปร์ยึดทรัพย์สินที่เชื่อมโยงกับการกระทำที่มีความผิดทางอาญาและการฟอกเงินได้รวม 6,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 162,830 ล้านบาท) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือนมกราคม 2019 ถึงเดือนมิถุนายน 2024 ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินที่ผิดกฎหมายเหล่านี้มาจากคดีฟอกเงินที่อื้อฉาวในปี 2023 

รายงานระบุว่า เงินผิดกฎหมายที่ถูกยึดมาในช่วงเวลาดังกล่าว ถูกส่งคืนให้กับกลุ่มผู้เสียหายแล้วจำนวน 416 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 11,300 ล้านบาท) และอีก 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 27,100 ล้านบาท) ถูกริบเอาเป็นของรัฐ ส่วนเงินจากคดีฟอกเงินมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 81,415 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ก็มีการริบเงินประมาณ 944 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 25,620 ล้านบาท) ให้กับรัฐแล้ว

เจ้าหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่ากิจกรรมการฟอกเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนผิดกฎหมายจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศ 

“แม้แต่ระบบต่อต้านการฟอกเงินที่เข้มงวดที่สุดก็ยังสามารถหลบเลี่ยงได้โดยอาชญากรที่มุ่งมั่น ซึ่งจะค้นหาช่องโหว่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง … อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ก็ไม่ควรรุนแรงเกินไปและขัดขวางการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย” นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ของสิงคโปร์กล่าวในพิธีเปิดการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการเงิน

Advertisment

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งในมาตรการที่สิงคโปร์กำลังดำเนินอยู่เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในการฟอกเงิน คือได้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานครอบครัว (Family Office) และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ในขณะเดียวกัน ก็กำลังเร่งปิดบริษัทที่ไม่มีการเคลื่อนไหว นอกจากนั้น แหล่งข่าวของบลูมเบิร์กบอกว่า ธนาคารในสิงคโปร์ยังเพิ่มการตรวจสอบลูกค้าที่ร่ำรวยและผู้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นลูกค้าด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากเงินผิดกฎหมาย 

นอกจากนั้น บลูมเบิร์กรายงานอีกว่า หน่วยงานเฝ้าระวังระดับโลกซึ่งมีการประชุมกันที่สิงคโปร์ในสัปดาห์นี้จะเพิ่ม “เวเนซุเอลา” และ “โมนาโก” เข้าไปใน “บัญชีสีเทา” (Grey List) เนื่องจากสองประเทศนี้ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการมากพอที่จะขัดขวางการเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมาย