ค่ายรถเยอรมันก็ค้าน “ภาษีอีวีจีน” เสียงเรียกร้องหลายทางทำ “อียู” ยอมเจรจาใหม่

อีวีจีน
รถยนต์เตรียมการส่งออกที่ท่าเรือในมณฑ,ชานตง ประเทศจีน/ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2024 (ภาพแจก จัดหาโดย AFP)

หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2024 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากประเทศจีน โดยจะเก็บเพิ่มอีก 17.4-38.1% จากอัตราเดิมที่เก็บอยู่ 10% มีผลในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ทางการจีนก็ได้ออกมากระทุ้งแทบไม่เว้นวัน ให้คณะกรรมาธิการยุโรปทบทวนและแก้ไขอัตราภาษี

เมสเสจจากทางการจีนที่ออกมาหลายต่อหลายครั้ง นำโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศระบุตรงกันว่า หากสหภาพยุโรปไม่แก้ไข “แนวปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง” ในทันที “จีนจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งหมดอย่างแน่วแน่ เพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่จีนเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการที่สหภาพยุโรปขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน แต่ผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในยุโรปก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน 

นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนว่า ผู้ผลิตรถยนต์และสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปยกเลิกคำขู่ที่จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีน โดยให้เหตุผลว่า การขึ้นภาษีอีวีจีนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในท้องถิ่นของเยอรมนีเอง และลดความสามารถในการทำธุรกิจของบริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมันในจีน

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันกล่าวว่า พวกเขาเองจะได้รับผลกระทบหนักกว่าบริษัทรถยนต์คู่แข่งในฝรั่งเศสและอิตาลีมาก เนื่องจากตลาดรถยนต์ของเยอรมนีและจีนมีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นหนา

Advertisment

อิงตามข้อมูลของศูนย์วิจัยยานยนต์ (Center Automotive Research : CAR) ในเมืองโบคุม ประเทศเยอรมนี เกือบ 14% ของรถยนต์ไฟฟ้า 111,000 คันที่จดทะเบียนในเยอรมนีในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน 

และตัวเลขจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งเยอรมนี (VDA) แสดงให้เห็นว่า ประมาณ 10% ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 337,000 คันของบริษัทรถยนต์เยอรมันที่ผลิตในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว ถูกส่งออกหรือเรียกได้ว่า “ส่งกลับ” ไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้จะต้องเผชิญกับอัตราภาษีใหม่เช่นกัน

โฆษกของโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) กล่าวว่า การตัดสินใจขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนส่งผลเสียต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนีและยุโรปซึ่งกำลังเผชิญกับดีมานด์ที่อ่อนแออยู่แล้ว

“การเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าในสหภาพยุโรปอาจกระตุ้นให้เกิดไดนามิกอันรุนแรงของมาตรการและการตอบโต้ และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น … เราสันนิษฐานว่าผลกระทบด้านลบของการตัดสินใจ [ขึ้นภาษี] จะมีมากกว่าด้านบวก” 

Advertisment

สอดคล้องกับที่ โอลิเวอร์ ซิปเซ (Oliver Zipse) ซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) กล่าวในถ้อยแถลงต่อนิกเคอิว่า “การตัดสินใจเรื่องการเพิ่มภาษีนำเข้าเป็นแนวทางที่ผิด คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำร้ายบริษัทในยุโรปและผลประโยชน์ของยุโรป” 

ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นของแบรนด์ยุโรป อย่างเช่น บีเอ็มดับเบิลยู, มินิ (Mini), โฟล์กสวาเกน, โพลสตาร์ (Polestar), วอลโว่ (Volvo), สมาร์ท (Smart) และดาเซีย (Dacia) นั้นผลิตในจีน และรถยนต์แบรนด์อเมริกัน เทสลา (Tesla) จำนวนหนึ่งที่ส่งไปขายในยุโรปก็ผลิตในจีนเช่นกัน

นอกจากนั้น แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนีของนิกเคอิกล่าวว่า หากสหภาพยุโรปกับจีนไม่สามารถเจรจากันได้ รถยนต์สัญชาติเยอรมันก็จะเจอการตอบโต้ทางภาษีจากรัฐบาลจีนเช่นกัน ซึ่งเมื่อปี 2023 บริษัทรถยนต์เยอรมันส่งออกรถยนต์ไปจีนประมาณ 216,300 คัน 

เฟอร์ดินันด์ ดูเดนโฮฟเฟอร์ (Ferdinand Dudenhoeffer) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยานยนต์ (CAR) เป็นอีกคนที่กล่าวว่า การขึ้นภาษีเหล่านี้ของอียูจะเป็นอันตรายต่อผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน เนื่องจากจะถูกขึ้นภาษีตอบโต้ และมันจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค เพราะจากราคารถยนต์จะสูงขึ้น และจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะเพิ่มความน่าดึงดูดใจของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป

ขณะที่ ฮิลเดการ์ด มุลเลอร์ (Hildegard Mueller) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งเยอรมนี (VDA) ก็เห็นพ้องกันว่า การเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนส่งผลเสียต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของสหภาพยุโรปที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2050

“จีนมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ความขัดแย้งทางการค้าก็จะเป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วย” ประธาน VDA กล่าวในแถลงการณ์ 

ก่อนหน้านี้ โวลเกอร์ วิสซิง (Volker Wissing) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของเยอรมนีก็กล่าวเตือนเช่นกันว่า ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรปเสี่ยงที่จะทำให้เกิด “สงครามการค้า” กับจีน 

หลังจากจีนพยายามเรียกร้องมาตลอดสิบกว่าวัน บวกกับคำเตือนจากทางการเยอรมนี และเสียงค้านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี “เสียง” ที่ส่งจากหลายทางก็เห็นผลแล้วขั้นหนึ่ง

ตามที่รอยเตอร์ (Reuters) รายงานในวันที่ 24 มิถุนายนว่า สหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงที่เจรจาการค้าครั้งใหม่ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และรอยเตอร์รายงานอ้างอิงโกลบอลไทม์ (Global Times) ซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า ทางฝั่งจีนต้องการให้สหภาพยุโรปแก้ไขอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในการเจรจานี้ 

รายงานข่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเริ่มการเจรจาด้านภาษีหลังจากการคุยหารือทางโทรศัพท์ระหว่าง วาลดิส ดอมบรอฟสกี้ (Valdis Dombrovskis) กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป และ หวัง เหวินเทา (Wang Wentao) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนเมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ โรเบิร์ต ฮาเบก (Robert Habeck) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีเดินทางเยือนจีน และได้กล่าวว่าประตูสำหรับการอภิปรายนั้นเปิดอยู่

โฆษกของสหภาพยุโรปบอกกับบีบีซี (BBC) ในวันที่ 24 มิถุนายนเช่นกันว่า การคุยระหว่างกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีนนั้น “ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์” และทั้งสองฝ่ายจะหารือกันต่อไปในทุกระดับในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม โฆษกของสหภาพยุโรปยังเน้นย้ำถึงการคัดค้านของสหภาพยุโรปต่อวิธีการให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีของจีน และคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า ผลการเจรจาใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับอัตราภาษีจะต้องจัดการแก้ปัญหาการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนซึ่งสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมและการแข่งขัน