เมื่อสหรัฐขอ “อียู” ชะลอ EUDR อาจช่วยต่อลมหายใจผู้ผลิตทั่วโลก

EU อียู

กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) กำลังสร้างความระส่ำระสายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าส่งออกของหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุดได้ส่งจดหมายขอให้อียูชะลอการใช้ EUDR ออกไปก่อน เพราะสินค้าสหรัฐจะได้รับผลกระทบหนัก

ทั้งนี้ มาตรการ EUDR ใช้กับสินค้า 7 กลุ่มคือ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้

มาตรการนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2023 และกำลังจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2024 นี้ โดยบังคับใช้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้ค้าที่จะจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยกำหนดว่าสินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อคือ (1) ต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า (2) ต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ (3) ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence)

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2024 ไฟแนนเชียลไทม์ส (Financial Times) เปิดประเด็นข่าวว่า ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาได้ส่งจดหมายลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2024 ถึง “คณะกรรมาธิการยุโรป” (European Commission) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ขอให้ชะลอการใช้มาตรการ EUDR โดยให้เหตุผลว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐ

จีนา เรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ โธมัส วิลแซ็ก (Thomas Vilsack) รัฐมนตรีเกษตรสหรัฐ และ แคเทอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าของสหรัฐ กล่าวร่วมกันในจดหมายที่ส่งถึงฝ่ายบริหารสหภาพยุโรปว่า กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของอียูก่อให้เกิด “ความท้าทายที่สำคัญ” ต่อผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐ

Advertisment

“ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปชะลอการดำเนินการตามกฎระเบียบนี้และการบังคับใช้บทลงโทษ จนกว่าความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ”

ทั้งนี้ คาดว่าเซ็กเตอร์ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎ EUDR มากที่สุดในสหรัฐคือ อุตสาหกรรมไม้ กระดาษ และเยื่อกระดาษ ซึ่งตามตัวเลขของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐระบุว่า สหภาพยุโรปนำเข้าผลิตภัณฑ์จากป่าของสหรัฐเป็นมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2022

และคาดว่า EUDR อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์บางอย่างมากเป็นพิเศษ อย่างเช่นกระดาษทิสชูและผ้าอนามัย เนื่องจากสหรัฐเป็นผู้จัดหาเยื่อกระดาษที่ใช้ในสินค้าเหล่านี้มากถึง 85% ของที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก

EUDR กำหนดให้ผู้ดำเนินการและผู้ค้าต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์มาจากพื้นที่ที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าหลังปี 2020 รวมถึงระบุข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ แต่สมาคมป่าไม้และกระดาษแห่งอเมริกา (AF&PA) กล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะปฏิบัติตาม เนื่องจากกระดาษและเยื่อกระดาษนั้นแปรรูปมาจากขี้เลื่อยและเศษไม้ที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ผสมกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

Advertisment

ไม่เพียงแต่สหรัฐและประเทศผู้ผลิตสินค้าจากภายนอกเท่านั้นที่เดือดร้อนจากมาตรการ EUDR แต่ภายในประเทศสมาชิกอียูเองก็มีความเห็นแย้งและต่อต้านกฎนี้ด้วยเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการด้านการพัฒนา และกรรมาธิการด้านการเกษตรของสหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปชะลอการใช้มาตรการนี้ออกไป ขณะที่รัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ซึ่งนำโดยออสเตรีย ได้เรียกร้องให้ยกเว้นการบังคับใช้มาตรการนี้กับเกษตรกรรายย่อยภายในอียูด้วย

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าได้รับจดหมายจากฝ่ายบริหารของสหรัฐแล้ว และจะตอบกลับภายในเวลาอันเหมาะสม

ต้องรอลุ้นกันว่าเสียงเรียกร้องของพันธมิตรผู้ทรงอิทธิพลจะโน้มน้าวฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปสำเร็จหรือไม่ ถ้าสำเร็จก็จะเป็นการต่อลมหายใจให้ผู้ผลิตสินค้าจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีการตรวจสอบที่พร้อมมากพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าสินค้าของตนไม่ได้ปลูกในพื้นที่ที่รุกป่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะถูกตัดออกจากตลาดยุโรปมากที่สุด