“มาครง” ยุบสภาฝรั่งเศส-รีบเลือกตั้งใหม่ แม้รู้ว่าพรรคตัวเองจะแพ้ เพราะอะไร ?

เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2024
เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2024 (ภาพถ่ายจากจอโทรทัศน์ โดย Ludovic MARIN / AFP)

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศยุบสภาฝรั่งเศส รีบเลือกตั้งใหม่สิ้นเดือนนี้ เพราะอะไรเขาจึงรีบอยากเลือกตั้ง แม้รู้ว่าพรรคของตัวเองมีแนวโน้มที่จะแพ้ในเวลานี้ ?

เมื่อค่ำวันที่ 9 มิถุนายน 2024 หลังทราบประมาณการผลการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป (European Parliament) เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่อย่างรวดเร็วในวันที่ 30 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ หลังจากที่พรรคเรอเนซองส์ (Renaissance : RE) ของเขาพ่ายแพ้ต่อพรรคเนชั่นแนลแรลลี (National Rally : RN) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาจัดที่นำโดย มารีน เลอแปน (Marine Le Pen) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป 

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปอย่างไม่เป็นทางการ พรรคเรอเนซองส์ของมาครงได้คะแนนเพียง 15.2% ขณะที่พรรคของเลอแปงคว้าไป 31.5% 

ตามการรายงานของรอยเตอร์ (Reuters) มาครงกล่าวว่าผลลัพธ์ของการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับรัฐบาลของเขา และเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเพิกเฉยได้ เขาประกาศว่าการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรจะมีขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน และการลงคะแนนเสียงรอบสองในวันที่ 7 กรกฎาคม

“นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการทำให้ชัดเจน” 

Advertisment

“ผมได้ยินข้อความของคุณ ความกังวลของคุณ และผมจะไม่ปล่อยให้มันไม่มีคำตอบ … ฝรั่งเศสต้องการเสียงข้างมากที่ชัดเจนเพื่อดำเนินการด้วยความราบรื่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ปัจจุบันพรรคเรอเนซองส์ของมาครงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 169 คน จากทั้งหมด 577 คน ส่วนพรรค RN มี 88 คน หาก RN เป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น มาครงจะยังคงมีอำนาจกำกับดูแลโดยตรงในด้านการป้องกันประเทศและนโยบายต่างประเทศ แต่เขาจะสูญเสียอำนาจในการกำหนดวาระภายในประเทศ ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจไปจนถึงความมั่นคง 

น่าสนใจว่าทำไมมาครงอยากรีบเลือกตั้งใหม่ในวันที่แนวโน้มชัดเจนว่าพรรคของตนเองจะแพ้เลือกตั้ง ? 

ทีนีโอ (Teneo) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและการสื่อสารมองว่า มาครงเรียกร้องการเลือกตั้งที่เขาอาจจะแพ้ เพราะเป้าหมายสูงสุดของเขาอาจเป็นการเลื่อนชัยชนะของพรรค RN มาให้เร็วขึ้น เพื่อเผยให้เห็นว่าพรรค RN ขาดประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาล และทำให้ RN ต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปี 2027

Advertisment

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งยุโรป (ECFR) กล่าวถึงการคำนวณการเลือกตั้งของมาครงในแถลงการณ์ว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นและมีความเสี่ยง

“เขาพยายามที่จะมีชีวิตที่สอง และหลีกเลี่ยงสถานะเป็ดง่อย แต่มันก็อาจนำไปสู่การอยู่ร่วมกันของมาครง-เลอแปงด้วย” ECFR ระบุ 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสเคยมีช่วงเวลาที่เรียกว่า “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” (Cohabitation) เมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งในกรณีเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีของพรรคเสียงข้างมากจะกลายเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในประเทศของฝรั่งเศส

ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในช่วงปี 1997-2002 ที่ประธานาธิบดี ฌากส์ ชีรัก (Jacques Chirac) มีเสียง สส.น้อยกว่า และมีอำนาจรองจากนายกรัฐมนตรี ลียอแนล ฌ็อสแป็ง (Lionel Jospin)