รู้จัก BRICS กับโอกาสและความเสี่ยงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก

ผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก BRICS ร่วมประชุม BRICS SUMMIT 2023
ผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก BRICS ร่วมประชุม BRICS SUMMIT 2023 (ภาพโดย ALET PRETORIUS / POOL / AFP)

ไทยกำลังจะยื่นหนังสือแสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS (บริกส์) หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2024 มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ของโลก พร้อมมองถึงโอกาสและความเสี่ยงที่มาพร้อมกันจากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ 

BRICS คืออะไร 

กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง 

BRICS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้ เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2010 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าเป็นสมาชิกใหม่ ทำให้ปัจจุบัน กลุ่ม BRICS มีสมาชิก 10 ประเทศ และยังมีอีกสิบกว่าประเทศที่อยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิก-รอการตอบรับ 

Advertisment

ปัจจุบัน BRICS มีประชากรรวมกันคิดเป็นประมาณ 39% ของประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกันประมาณ 28.4% ของโลก

ความร่วมมือในกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสา ได้แก่ เสาด้านการเมืองและความมั่นคง เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน และเสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม 

ในแต่ละปีนอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้ว แต่ละเสายังมีการจัดประชุมในระดับต่าง ๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่าง ๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน 

ประโยชน์ที่ไทยหวังจากการเป็นสมาชิก BRICS 

รัฐบาลไทยมองว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน 

Advertisment

อีกทั้งยังมองว่าจะช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง 

นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิก BRICS ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุม และไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด 

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของประเทศกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต และกลุ่ม BRICS มีบทบาทเป็นกระบอกเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศและมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในเวทีระหว่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกจึงสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยและเป็นโอกาสทำให้บทบาทของไทยในเวทีโลกมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

“การเข้าเป็นสมาชิก BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่ม ทำให้ไทยสามารถใช้ศักยภาพในฐานะประเทศที่เป็นมิตรกับทุกกลุ่มในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วม และไทยอาจมีบทบาทเป็นช่องทางประสานงานระหว่างประเทศอื่น ๆ กับประเทศสมาชิก BRICS ทำให้กลุ่ม BRICS มีความเข้มแข็งขึ้น และมีความครอบคลุมในเชิงภูมิศาสตร์ และมุมมองทางยุทธศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากไทยที่เป็นจุดเชื่อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ไทยร่วมกำหนดท่าทีเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของ BRICS ให้สอดคล้องกับมุมมองของไทยมากขึ้น” 

“การยกระดับความร่วมมือกับ BRICS รวมถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทย จึงเป็นความต่อเนื่องของนโยบายและการใช้โอกาสที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองกับทุกกลุ่มประเทศ บนหลักการของการดำเนินการทูตที่สมดุลและยืดหยุ่น” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว 

ความเสี่ยงที่มาพร้อมโอกาส 

ในขณะที่รัฐบาลไทยมองเห็นโอกาสและประโยชน์หลายอย่างที่จะได้จากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS 

อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่มาพร้อมกัน เนื่องจากกลุ่ม BRICS เป็นคู่แข่งโดยตรงกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) และขั้วพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา 

สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดี เรียกร้องให้ BRICS เร่งรับสมาชิกให้มาก ๆ ด้วยความหมายมั่นที่จะใช้กลุ่ม BRICS ตอบโต้กลุ่ม G7 และท้าทายระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐ รวมถึงความพยายามที่จะสร้างสกุลเงินร่วมของกลุ่ม BRICS ขึ้นมาใช้ในการค้าขายกันเองภายในกลุ่ม เพื่อลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐลง 

ดังนั้น หากไทยเข้าเป็นสมาชิก BRICS ก็มีความเสี่ยงที่พลาดโอกาสบางอย่างที่สหรัฐและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่พวกเขามองว่า “เป็นมิตร” 

หรือแม้แต่ในด้านภาพลักษณ์ ในอนาคตเราไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า BRICS จะผลักดันประเด็นอะไรที่ขัดแย้งกับโลกสากลหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของไทยที่ต้องการจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกได้ 

BRICS ในมุมมองโลกตะวันตกที่ต่างออกไป 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากมุมมองอื่น โดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันตกหรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ก็มีมุมองต่อ BRICS ต่างออกไป กล่าวคือ ยังไม่ได้มองว่า BRICS จะมีพลังมากพอ แม้ว่าจะมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นก็ตาม 

เดอะ ดิโพลแมต (The Diplomat) สื่อด้านการเมืองและการระหว่างประเทศชื่อดังรายงานว่า ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากทั้งในตะวันตกและซีกโลกใต้แสดงความกังขาเกี่ยวกับศักยภาพของ BRICS เนื่องจากลักษณะทางสถาบันที่มีความกระจัดกระจายและแรงจูงใจในการเข้าร่วมกลุ่มของสมาชิกนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก

สถาบันเพื่อสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Institute for Peace) ซึ่งเป็นคนละขั้วโดยตรงกล่าวไว้หลังจากที่ BRICS รับสมาชิกครั้งล่าสุดว่า กลุ่ม BRICS ที่ขยายใหญ่ขึ้นจะทำหน้าที่เป็นเวทีสำคัญสำหรับการสนทนาระดับโลกระหว่างประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นั่นอาจเป็นผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดต่อกิจการระดับโลก

“หลังจากเกิดขึ้นมานานกว่าทศวรรษ ยังคงต้องรอดูว่า BRICS จะกลายเป็นพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในระบบระหว่างประเทศได้หรือไม่” สถาบันเพื่อสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกากล่าว