อาหารทะเลญี่ปุ่นระส่ำ ส่งออกแสนล้านหายเกือบครึ่ง หลังจีน-ฮ่องกงแบนจากเหตุปล่อยน้ำ

อุตสาหกรรมประมงญี่ปุ่น
ท่าเรือประมงมัตสึคาวะอุระ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น (ภาพโดย Philip FONG / AFP)

บริษัท โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Company) ซึ่งบริหารโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi) ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันที่ 24 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ทำให้คำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของจีน ฮ่องกง และมาเก๊า เริ่มมีผลในทันที 

ก่อนหน้านี้จีนประกาศไว้ว่าจะห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ถ้าญี่ปุ่นปล่อยน้ำลงทะเล แต่เมื่อญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงมหาสมุทรจริง ๆ จีนได้เพิ่มระดับการควบคุมเป็นการคว่ำบาตรอย่างเต็มรูปแบบ โดยห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมดจากทุกส่วนของประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้อาหารทะเลจากญี่ปุ่นจะไม่สามารถส่งขายจีนได้เลย 

ขณะเดียวกัน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของจีนก็ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ประกอบด้วยโตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำ 

การห้ามนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นของจีน ฮ่องกง และมาเก๊า คาดว่าจะสร้างผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการส่งออกอาหารทะเลไปยัง 3 ปลายทางนี้รวมกันคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบนอย่างเต็มรูปแบบของจีน ซึ่งเป็นตลาดเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นอย่างมาก 

การส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นไปจีนในปี 2022 มีมูลค่า 87,100 ล้านเยน (ประมาณ 20,925 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปปลี่ยนวันที่ 25 สิงหาคม 2023) คิดเป็นประมาณ 22.51% ของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 387,000 ล้านเยน (ประมาณ 93,000 ล้านบาท) 

Advertisment

ส่วนฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยฮ่องกงซื้ออาหารทะเล (นับรวมถึงไข่มุก) จากญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 75,500 ล้านเยน (ประมาณ 18,000 ล้านบาท)

เมื่อจีนห้ามนำเข้าทั้งหมด จึงสามารถคำนวณผลกระทบที่เกิดจากการห้ามนำเข้าของจีนได้ง่าย แต่สำหรับการห้ามนำเข้าของฮ่องกงและมาเก๊านั้นยังไม่สามารถระบุได้ในทันที อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ของประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ผลกระทบ “จะมีนัยสำคัญ” 

คาซูมะ คิชิกาวา (Kazuma Kishikawa) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยไดวะ (Daiwa Institute of Research) กล่าวว่า การส่งออกสินค้าประมงของญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งนั้นส่งออกไปที่จีน ไต้หวัน และฮ่องกง ดังนั้นชาวประมงญี่ปุ่นจะสูญเสียยอดขายในต่างประเทศถึงเกือบ 50% ซึ่งจะเป็นความเสียหายที่รุนแรง   

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการห้ามนำเข้าของจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ออกฤทธิ์ต่อตลาดอาหารทะเลญี่ปุ่นในทันทีทันใด โดยในวันที่ 25 สิงหาคม ราคาเฉลี่ยของปลาทูน่าอาโอโมริสดในตลาดโทโยสุ กรุงโตเกียว ลดลง 24% จากวันก่อนหน้า ลงไปอยู่ที่ 9,383 เยนต่อกิโลกรัม 

Advertisment

มีรายงานข่าวว่า การส่งออกปลาสดของญี่ปุ่นไปยังจีนเริ่มลดลงแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่อจีนเริ่มเข้มงวดการตรวจสอบมากขึ้น แต่เมื่อคำสั่งมีผลอย่างเป็นทางการทำให้อาหารแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเลก็ไม่สามารถส่งเข้าตลาดจีนได้ 

โมมู โอไดระ (Momoo Odaira) นักวิเคราะห์ด้านการประมงคาดว่า การห้ามนำเข้าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมประมงและส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ที่เคยส่งออกไปยังจีนจะต้องขายภายในประเทศ หรือขายให้กับประเทศอื่น ๆ เช่น ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ ในขณะที่การแข่งขันในประเทศอื่น ๆ รุนแรงขึ้น ราคาปลาก็มีแนวโน้มที่จะลดลง 

ทั้งนี้ ปฏิกิริยาของจีน ฮ่องกง มาเก๊า และเกาหลีใต้ที่คัดค้านการปล่อยน้ำลงมหาสมุทร แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อความปลอดภัย

ถึงแม้ว่าทางญี่ปุ่นเน้นย้ำว่าน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีในโรงไฟฟ้าถูกกรองเพื่อกำจัดธาตุกัมมันตรังสีออกแล้วก่อนปล่อยลงสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยืนยันว่าน้ำที่ปล่อยนั้นมีความปลอดภัย 

อีกทั้งแผนการปล่อยน้ำได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (UN) แล้ว หลังจากที่พิจารณาทบทวนมาเป็นเวลา 2 ปีแล้วพบว่าการปล่อยน้ำดังกล่าวของญี่ปุ่นจะมีผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย

แต่กระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ตำหนิว่าการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นนั้น “เห็นแก่ตัวและขาดความรับผิดชอบ” และหน่วยงานศุลกากรของจีนกล่าวว่า การระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการปนเปื้อนกัมมันตรังสี 

แม้ว่าความกังวลของจีน ฮ่องกง มาเก๊า และเกาหลีใต้นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง มาตรการของจีนที่ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากทุกพื้นที่ของญี่ปุ่นนั้นถูกมองเป็นเรื่อง “การเมือง” ของประเทศที่อยู่คนละขั้วอำนาจในระดับโลก ซึ่งก็มีหลักฐานที่สนับสนุนมุมมองนี้ คือ ในช่วงเดียวกันกับที่วิพากษ์วิจารณ์และประกาศจะห้ามนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นนั้น จีนได้อนุญาตให้บริษัทอาหารทะเลจากรัสเซียอีก 9 บริษัทซึ่งใช้พื้นที่ประมงในมหาสมุทรแปซิฟิกร่วมกับญี่ปุ่นส่งสินค้าเข้าไปขายในจีนได้

อเล็กซ์ คาปรี (Alex Capri) อาจารย์อาวุโสของ NUS Business School ในสิงคโปร์ และนักวิจัยของ Hinrich Foundation องค์กรการกุศลในเอเชียที่ทำงานเพื่อพัฒนาการค้าโลก แสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกันว่า มาตรการล่าสุดของรัฐบาลจีนเป็นการตอบโต้ต่อความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นกับสหรัฐ และตอบโต้ต่อความเคลื่อนไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นในการร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐควบคุมการส่งออกเครื่องมือ-อุปกรณ์การผลิตชิปไปยังจีน