10 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงสุดในโลก เอเชียติด 4 อันดับ 

ขีดความสามารถการแข่งขัน
Photo by Sergei GAPON / AFP

เมื่อเร็ว ๆ นี้ World Competitiveness Center (WCC) ในสังกัด International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/เขตเศรษฐกิจประจำปี 2023 (IMD World Competitiveness Yearbook 2023) ซึ่งปรากฏว่ามี 4 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในทวีปเอเชียติด 10 อันดับแรก 

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ/เขตเศรษฐกิจประจำปี 2023 มี 64 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินและจัดอันดับ โดยมีเกณฑ์หลักในการประเมิน 4 ด้าน ประกอบด้วย ประสิทธิภาพของภาครัฐ, ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ, โครงสร้างพื้นฐาน และสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งเป็นปัจจัยย่อยรวม 20 ปัจจัย  

10 อันดับแรกของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกประจำปี 2023 นี้ ได้แก่ 

1.เดนมาร์ก 

2.ไอร์แลนด์ 

Advertisment

3.สวิตเซอร์แลนด์ 

4.สิงคโปร์ 

5.ฟินแลนด์ 

6.ไต้หวัน 

Advertisment

7.ฮ่องกง 

8.สวีเดน 

9.สหรัฐอเมริกา 

10.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) 

เดนมาร์กยังคงครองตำแหน่งที่ 1 เหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยความโดดเด่น-ครองอันดับ 1 ในด้านประสิทธิภาพของธุรกิจ และอยู่อันดับที่ 2 ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ไอร์แลนด์ก้าวกระโดดจากอันดับ 11 มาเป็นอันดับ 2 ได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยปัจจัยด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำผลงานได้ดีขึ้นอย่างโดดเด่น 

สวิตเซอร์แลนด์ร่วงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้วลงมาอยู่ในอันดับ 3 ในปีนี้ อันดับร่วงลงต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ร่วงลงมาอยู่อันดับ 2 จากที่ครองแชมป์ในปี 2021 โดยปัจจัยที่สวิตเซอร์แลนด์แข็งแกร่งมากคือ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ของปัจจัยสองด้านนี้  

“ทั้งสามเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดและคู่ค้า เช่นเดียวกับสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4” รายงานของ IMD ระบุ 

ส่วน ประเทศไทยของเรา ปีนี้อยู่ในอันดับที่ 30 ขยับดีขึ้น 3 อันดับ จากในปี 2022 โดยปัจจัยหลักที่ไทยทำผลงานได้ดีที่สุดจากปัจจัยการประเมินหลักทั้งหมด 4 ด้านคือ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ส่วนปัจจัยที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดคือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ การจัดอันดับขีดความแข่งขันของประเทศ/เขตเศรษฐกิจนั้น เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนระหว่างประเทศ และสำหรับการประเมินผลกระทบของนโยบายสาธารณะต่าง ๆ

ศาสตราจารย์อาร์ตูโร บริส (Arturo Bris) ผู้อำนวยการ World Competitiveness Center (WCC) ของ IMD แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการวิจัยว่า มีประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กำลังแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง ตอนนี้มีผู้ชนะและผู้แพ้ในบริบทที่หลายวิกฤตการณ์ทับซ้อนกัน และโลกถูกแบ่งแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบปกป้องการค้าและระบบเศรษฐกิจแบบเปิด

“ความสามารถของประเทศในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนเป็นตัวกำหนดความสำเร็จที่สำคัญ มันเป็นสิ่งที่จีนยังไม่ได้ทำ และเป็นสิ่งที่สหรัฐยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่”

คริสทอส คาโบลิส (Christos Cabolis) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ WCC อธิบายว่า การนำประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าในสภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้ในปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัว ประเทศที่เก่งกำลังสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการฟื้นตัว เช่น ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และบาห์เรน รัฐบาลของพวกเขาสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจได้ทันท่วงที สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสิงคโปร์ ก็เป็นตัวอย่างสำคัญของเรื่องนี้เช่นกัน