“หยวน” จะโค่น “ดอลลาร์” ความจริงหรือความรู้สึก ???

หยวน จะโค่น ดอลลาร์
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

กระแสเรื่อง “เงินหยวน” ของจีนอาจจะโค่นล้มดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ทั้งในแง่การเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ (reserve currency) รวมทั้งจะเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ (cross-border payments) เริ่มเปรี้ยงปร้างขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว

หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และรัสเซียถูกชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปลงโทษด้วยการไม่ให้เข้าถึงเงินสกุลดอลลาร์และยูโร ทำให้รัสเซียหันไปพึ่งมิตรอย่างจีน และทั้งสองประเทศก็เปิดการค้าขายระหว่างกันด้วยสกุลเงินของตัวเอง แทน “ดอลลาร์สหรัฐ”

มาปีนี้กระแสเงินหยวนจะโค่นเงินดอลลาร์กลับมาอีกครั้ง หลังจากจีนทำข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบียในการชำระค่าน้ำมันด้วยเงินหยวน จากเดิมชำระด้วยดอลลาร์ ประกอบกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ล่าสุดระบุว่า สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลงมาก จากที่เคยอยู่ระดับ 71% เมื่อปี 2000 เหลือเพียง 59.79% ในปัจจุบัน ส่วนเงินหยวนสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 2.76% หรืออยู่อันดับ 5 ต่อจากยูโร (19.66%) เยน (5.26%) และปอนด์ (4.62%)

สำหรับฝ่ายที่เชื่อว่าหยวนจะผงาดขึ้นมาแทนดอลลาร์ จะอ้างอิงเหตุผลที่ว่า การที่สหรัฐใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือลงโทษรัสเซีย ทำให้หลายประเทศเริ่มหวาดกลัวว่าอาจจะถูกสหรัฐใช้วิธีเดียวกันเล่นงาน จึงลดการถือครองดอลลาร์ไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามการที่เงินสกุลใดจะผงาด ขึ้นมาเป็นสกุลทรงอิทธิพล ได้รับการยอมรับ และที่สำคัญได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลกไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนั้น การเป็นสกุลเงินเบอร์หนึ่งของโลก ไม่ได้มีแต่ข้อดีหรือข้อได้เปรียบ หากแต่มีข้อเสียและภาระต้องแบกรับเช่นกัน

เมื่อปี 1965 อดีตประธานาธิบดี “ชาร์ลส์ เดอโกล” ของฝรั่งเศส เคยวิจารณ์ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นมี “exorbitant privilege” (สิทธิพิเศษหรือข้อได้เปรียบมากเกินไป) ต่อมาปี 2011 อดีตประธานาธิบดี “หู จิ่นเทา” ของจีนวิจารณ์ว่า ระบบการเงินโลกที่มีดอลลาร์สหรัฐครอบงำนั้น “เป็นอดีตไปแล้ว” และจีนจะแทนที่ด้วยเงินหยวน

Advertisment

เมื่อกาลเวลาผ่านไป สถานะของการเป็นสกุลเงินหลักของโลกย่อมหมายถึง “ค่าเงินแข็ง” เพราะความต้องการสูง ใคร ๆ ก็นิยมดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐไม่สามารถแข่งขันเรื่องส่งออกได้ และ
ขาดดุลการค้ามหาศาล นำมาสู่การขาดดุลแฝด กล่าวคือขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน ต้องกู้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหา จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์สร้างวลีใหม่สำหรับดอลลาร์ นั่นคือ “exorbitant burden” (สร้างภาระมากเกินไป) เพราะสถานะของ reserve currency ทำให้ดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริงประมาณ 5-10%

สำหรับประเด็นที่ว่าหยวนมีแนวโน้มจะมาแทนที่ดอลลาร์ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตจีนจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีคุณสมบัติเดียวกับสหรัฐได้เร็วแค่ไหน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ดอลลาร์ผงาดขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก จากปัจจัยสำคัญ เช่น 1.อเมริกามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และแข็งแกร่ง 2.ระดับการเปิดประเทศสูง 3.ไม่จำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (fully convertible) 4.การเปิดเสรีบัญชีทุน 
(capital account openness) 5.มีตลาดการเงิน (เช่นพันธบัตร) ที่ลึกและกว้าง มีสภาพคล่องสูง 6.ความโปร่งใสของรัฐบาล ไม่แทรกแซงกลไกตลาดด้วย คุณสมบัติทั้งหมดทำให้ดอลลาร์
กระจายอยู่ทั่วโลก มีสภาพคล่องสูง เข้าถึงได้ง่าย

ส่วนจีนนั้นมีคุณสมบัติเหมือนสหรัฐอยู่เพียงข้อเดียวคือ เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงสหรัฐแบบสูสี ส่วนคุณสมบัติที่เหลือจีนยังสอบไม่ผ่าน และยังอยู่ห่างไกล
จากระดับที่จะส่งให้หยวนขึ้นมาผงาดในระยะใกล้หรือกลาง เพราะยังจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างมาก มีการควบคุมบัญชีทุนในระดับสูง ควบคุมการเข้า-ออกของเงินทุนสูง ตลาดการเงินยังแคบและตื้น สภาพคล่องน้อย และรัฐบาลยังควบคุมเศรษฐกิจและแทรกแซงค่าเงิน จนมีการเปรียบเปรยว่า การจะให้จีนเลิกแทรกแซงควบคุมค่าเงินหยวน ก็ไม่ต่างจากการคาดหวังให้คณะโปลิตบูโร
จัดเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย

Advertisment

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เงินหยวนไม่ถูกปล่อยออกไปแพร่กระจายทั่วโลกมากพอที่จะทำให้ เกิดสภาพคล่องและสะดวกในการเข้าถึง

โดยปกติประเทศใดก็ตามที่ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็มักจะตามมาด้วยสกุลเงินนั้น ๆ จะถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ปรากฏว่าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นกับจีน เพราะว่าสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศมีเพียง 2.5% ขณะที่ใช้ดอลลาร์ถึง 40% จะเห็นว่าสัดส่วนทิ้งห่างกันมาก ขัดแย้งกับขนาดเศรษฐกิจของจีนที่สูสีกับสหรัฐมาก

จะเห็นได้ว่าเงินหยวนยังตามหลังดอลลาร์สหรัฐห่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็น reserve currency และ cross-border payments