กระทรวงท่องเที่ยวร่วมประชุม UN Tourism มุ่งขับเคลื่อนแผนท่องเที่ยวเชิงอาหาร

กระทรวงท่องเที่ยวฯ ร่วมประชุม รัฐมนตรีท่องเที่ยว UN Tourism กว่า 43 ประเทศ หน่วยงานองค์กรภารรัฐและเอกชนกว่า 800 คน มุ่งส่งเสริมนโยบายเพื่อขับเคลื่อนแผนงานสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ณ เมืองเซบู ฟิลิปปินส์

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบหมายให้ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายธกร เลาหพงศ์ชนะ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายมงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมการท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การการท่องเที่ยวโลก (The 1st UN Tourism Regional Forum on Gastronomy Tourism for Asia and the Pacific: Gastronomy Tourism for People and Planet)

ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2567 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ และในโอกาสนี้ นายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานกับผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย

โดยการเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายที่จำเป็นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยเน้นการสร้างโอกาสให้กับจุดหมายปลายทางในการสร้างจุดขาย กระจายความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ซึ่งงานนี้มีรัฐมนตรีท่องเที่ยว ผู้แทนประเทศสมาชิก UN Tourism กว่า 43 ประเทศ หน่วยงานองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน

Advertisment

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นลำดับต้น ๆ ของนโยบายการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง รวมถึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นเมืองเกษตรกรรม จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ดึงดูดผู้หลงใหลในอาหารจากทั่วทุกมุมโลก

จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2561 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ณ จังหวัดเชียงใหม่ ไทยได้มีข้อริเริ่มจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงอาหารอาเซียน และปฏิญญาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอาเซียนและรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนได้ให้การรับรองในที่ประชุม

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ไทยได้จัดตั้ง “Thailand Gastronomy Network” สำเร็จแล้ว โดยมีความก้าวหน้าด้วยการจัดตั้ง Gastronomy Academy มี E-learning Platform มีการจัดทำ Gastronomy Trail & Visit และ Sustainable Food Learning Journey & Workshop

Advertisment

ขณะเดียวกัน รัฐบาลปัจจุบันก็ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จนถูกหยิบยกให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนนโยบาย Ignite Thailand ที่เรียกว่า “5 Must Do in Thailand” ได้แก่ Must Beat (Muay Thai), Must Eat (Thai food), Must Seek (Thai culture), Must Buy (Thai fabric) และ Must See (Thai shows ) โดยเราจะส่งเสริมให้อาหารไทยไปสู่ครัวโลกผ่านการนำเสนอ 77 อาหารถิ่น 77 ขนมไทย

โดยสอดคล้องกับนโยบาย THACCA เพื่อจะขับเคลื่อน 1 เชฟ 1 ตำบล เพราะเราต้องการ

1) ยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวให้ได้รับประสบการณ์อาหารที่เป็นเอกลักษณ์และแท้จริง

2) ส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมผ่านอาหารไทยดั้งเดิม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย

3) กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการสนับสนุนเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ของฝาก ซึ่งเป็นห่วงโซ่ของระบบนิเวศน์ที่จะทำให้ วัฒนธรรมอาหารกลายเป็นเรื่องทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม และนำพาให้ประเทศก้าวสู่เป้าหมายการจัดการอย่างยั่งยืน

และ 4) กระจายผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ไปยังการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การเรียนทำอาหาร และเทศกาลอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ เชื่อว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารสามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนต่างรุ่นและการส่งผ่านเรื่องราวข้ามวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง