“ศุภจี” ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี ชี้ AI ตัวช่วยบริหาร ธุรกิจจะไม่ถูกทดแทนด้วย AI

dusit

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี เผย “Next chapter ธุรกิจไทยยุค AI” Generative AI เครื่องมือช่วยบริหารธุรกิจที่ 4 ด้านหลัก ทั้งช่วยดูแลคนในองค์กร เพิ่มประสบการณ์ที่โดนใจให้ลูกค้า รวมถึงสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ช่วยทำให้คนไม่มีความรู้เรื่อง AI สามารถแข่งขันในโลกที่ไร้พรมแดนได้

วันที่ 21 มิถนายน 2567 นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ครบรอบ 48 ปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “The Power of AI…เกมใหม่ โลกเปลี่ยน” กับมุมมองที่มีต่อ “Next chapter ธุรกิจไทยยุค AI” ในฐานะผู้บริหารแถวหน้าของประเทศ กับมุมมองการบริหารธุรกิจในยุค AI ว่า เทคโนโลยี AI สามารถสร้างคอนเทนต์ได้หลากหลายทั้งที่เป็นข้อความ ภาพ คลิป ฯลฯ ซึ่งคอนเทนต์ที่ได้นั้นก็ต้องกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ เนื่องจากไม่มีลิขสิทธิ์

“จริงๆ Generative AI เกิดมานานแล้วและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และนับจากนี้ไปจะมีความยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราใช้เขามากๆ และยังทำให้คนที่ไม่มีความรู้สามารถใช้และสามารถแข่งขันในโลกที่ไร้พรมแดนได้”

นางศุภจีกล่าวด้วยว่า ในมุมมองด้านผู้บริหารนั้นมองการใช้ AI 4 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย 1. การทำให้สามารถดูแลคนในองค์กรของตัวเองได้หลากหลายรูปแบบ สำหรับกลุ่มของดุสิตธานีมีการตั้งกลุ่มงานด้านครีเอทีฟขึ้นมา เนื่องจากมองว่านอกจากคนแล้วแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่ามาก

“ปัญหาใหญ่ของการบริหารองค์กรในวันนี้คือ ความแตกต่างของเจนเนอเรชั่นของคนในองค์กร เทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยบอกว่าเราควรทำอะไรอย่างไรกับคนในแต่ละกลุ่ม การบริหารจึงต้องโฟกัสและลงลึกมากขึ้น”

Advertisment

2. เพิ่มประสบการณ์ที่โดนใจกับลูกค้าเนื่องจากปัจจุบันเราต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้ ต้องให้ความสะดวกสบายอย่างที่สุด ให้ประสบการที่โดนใจและตรงใจและต้องให้ความคุ้มค่ากับลูกค้าอย่างที่สุด ไม่จำเป็นต้องถูกที่สุด แต่ต้องให้รู้สึกถึงคุณค่ามากที่สุดจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร

3. กระบวนการในการทำงานต้องมีการปรับเปลี่ยนในการที่จะตอบโจทย์พนักงานหลากหลายรูปแบบได้ ซึ่ง AI จะมีการช่วยปรับและพัฒนาในเรื่องของกระบวนการในการทำงาน และ 4. การใช้ AI มาช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ ส่งเสริมครีเอทีฟขององค์กร

ส่วนจะทำอย่างไรให้องค์กรเดินหน้าไปได้และก่อให้เกิดความมั่นคงนั้นจะต้องมีการร่วมมือกันกับทั้งคนในองค์กร ซึ่งโมเดลที่ตนใช้อยู่นั้นเรียกว่า TAM Model ประกอบด้วย T: think big , A: act small และ M : move right คือ ต้องมองให้ครบ มองให้กว้าง มองภาพ macro ให้ได้ ตามหลักการ think macro / think big / act small

ส่วนการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ตอบโจทย์ความท้าทาย ความยาก และโอกาสของการทำธุรกิจเราได้อย่างไรนั้น นางศุภจีกล่าวว่า ในแต่ละธุรกิจจะมีความแตกต่างกัน 1.Retail การหาบทสนทนามาวิเคราะห์ จะทำให้เกิดการซื้อขายตรงกับความต้องการของลูกค้าและประสบการณ์ที่ภูมิใจและคุ้มค่า เรื่องพวกนี้ตอบโจทย์ลูกค้าคุณได้หรือเปล่า

Advertisment

2. Manufacturing การพัฒนาสินค้าตัวใหม่ จะเป็นการช่วยวิเคราะห์สินค้าว่าของเราจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นประสบการณ์จริงและแบบจำลองเสมือนจริง เช่น การออกแบบสร้างบ้านผ่านระบบ AI เป็นต้น รวมถึงช่วยอัพสกิลรีสกิลของพนักงานในองค์กรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

3. healthcare เช่น เวลาเข้าโรงพยาบาลต่างประเทศเรามักจะไม่เข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ AI จึงสามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ และ 4. Financial Service ทำให้พนักงานของเราฉลาดขึ้น

“เช่นจะมีการเสนอว่าจะไปลงทุนที่ไหน ทำอย่างไร พนักงานของเราจะทำงานหนักมาก เพราะฉะนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในโลกของการลงทุน ไม่ใช่วันต่อวัน แต่เป็นนาทีต่อนาที สามารถเสียหายได้ ซึ่งจะเป็นการประหยัดเวลาในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด” นางศุภจีกล่าว และว่า

อยากให้เปลี่ยนคำถามที่มีอยู่ในหัวว่าธุรกิจของเราจะถูกทดแทนด้วย AI แต่ขอให้เปลี่ยนมาคิดว่าเราใช้ AI มาสร้างศักยภาพเพิ่มเติมได้อย่างไรแทน

โดยจากข้อมูลของ IMF พบว่าการจ้างงานทั่วโลกเกือบ 40% เกี่ยวข้องกับ AI ความสามารถของ AI จะส่งผลกระทบต่องานที่ต้องใช้ทักษะสูง นอกเหนือจากระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาจะใช้โอกาสนั้นในการสร้างประโยชน์เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

และจากข้อมูลของ KResearch ได้คาดการณ์การลงทุนในซอฟต์แวร์ AI แพลตฟอร์ม เครื่องจักร รวมถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยการลงทุน AI ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตแม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงก็ตาม

โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยดัชนีความพร้อม AI ในเอเชียแปซิฟิก ลดลงอยู่ที่ อันดับ 9 คิดเป็น 43.6% โดยอันดับ 1 คือสิงคโปร์ อยู่ที่ 70.1% รองลงมา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนของ AI คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วภายในปี 2573