“การบินไทย” เด้งรับฮับการบิน เพิ่มฝูงบินใหม่ 80 ลำกวาดมาร์เก็ตแชร์

บินไทย

“การบินไทย” เด้งรับนโยบายดันสุวรรณภูมิขึ้นฮับการบินภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เร่งจัดหาเครื่องบินเพิ่มอีก 80 ลำภายในปี’76 รองรับการขยายเส้นทางบินใหม่ เผยสิ้นปี’77 มีฝูงบิน 134 ลำ กวาดมาร์เก็ตแชร์ 30-35% ดอดเจรจา ทอท.เขย่าสลอตการบินเชื่อมโยงเน็ตเวิร์กเส้นทางระหว่างประเทศ-ในประเทศ ตั้งเป้าลดเวลารอต่อเครื่องเหลือ 60 นาทีภายในปีนี้ ล่าสุดเตรียมเพิ่มเส้นทางบินใหม่สู่เพิร์ท-โคลัมโบ-มิลาน-ออสโล เพิ่มความถี่เส้นทาง “จีน-ญี่ปุ่น” มั่นใจรายได้รวมปีนี้แตะ 1.84 แสนล้าน ใกล้เคียงกับปี’62 ก่อนโควิด

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินลอตใหญ่รวมทั้งสิ้น 80 ลำ โดยจะทยอยเข้ามาในช่วงปี 2570-2576 ตามแผนขยายเครือข่ายเส้นทางบิน โดยในจำนวนนี้ได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ร่วมกับโบอิ้ง และบริษัท จีอี แอโรสเปซ ไปแล้ว 45 ลำ ส่วนอีก 35 ลำอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order)

โดยทั้ง 80 ลำดังกล่าวเป็นการจองสลอตการผลิต ซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะได้มาแบบเช่าซื้อ หรือเช่าดำเนินการ โดยบริษัทจะพิจารณาและตัดสินใจอีกครั้งก่อนรับเครื่องบิน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของธุรกิจ การดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของบริษัทในแต่ละช่วงเวลา

“แผนการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ เรายืนยันว่าเป็นการพิจารณาจากความต้องการของตลาดโดยแท้จริง และมีที่ปรึกษาระดับโลกมาช่วยประเมิน ที่สำคัญเราเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและบริษัทผลิตเครื่องยนต์โดยตรง ไม่ได้ผ่านบริษัทตัวแทน หรือโบรกเกอร์ จึงรับรองว่าการดำเนินงานครั้งนี้มีความโปร่งใส ส่วนลดทุกบาทเข้าบริษัทการบินไทย ไม่มีใครได้คอมมิชชั่นทั้งสิ้น” นายปิยสวัสดิ์กล่าว และว่า

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินใหม่ที่มีแผนรับมอบเข้ามาเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 9 ลำ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 70 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้การบินไทยมีเครื่องบินรวม 79 ลำ และเพิ่มเป็น 90 ลำภายในสิ้นปี 2569 เมื่อรวมกับแผนจัดหาเครื่องใหม่เพิ่มเติมอีก 80 ลำ และหักเครื่องที่จะหมดสัญญาเช่าจำนวนหนึ่ง ทำให้สิ้นปี 2577 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้าการบินไทยจะมีฝูงบินรวมทั้งสิ้น 134 ลำ

Advertisment

“แผนการจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการขยายฝูงบินแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นการดำเนินการเพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีกำหนดจะปลดระวางและทยอยหมดสัญญาเช่า เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยการบินไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในอีก 10 ปีข้างหน้าให้ได้ถึง 30-35% จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 21%” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า นอกจากแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่แล้ว ล่าสุดบริษัทยังได้หารือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT เพื่อจัดตารางการบิน (Slot) ให้สามารถเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างเส้นทางการบินระหว่างประเทศและเส้นทางการบินภายในประเทศ (Network) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวใช้ระยะเวลารอต่อเครื่องให้น้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายลดเวลาต่อเครื่องจากปัจจุบันที่มีอัตราเฉลี่ยที่ประมาณ 90 นาที ให้ลดเหลือ 60 นาทีภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตามนโยบายรัฐบาล

“การจะเป็นฮับการบินของภูมิภาคได้ ในระยะสั้นจะต้องมี 3 ปัจจัยรวมกันคือ 1.ระยะเวลาต่อเครื่องน้อยที่สุด 2.การบริหารจัดการภายในอาคารผู้โดยสารให้อยู่ในโซนเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารผู้โดยสารและบริการภาคพื้น และ 3.การให้บริการภายในสนามบิน เช่น ตม.ก็ต้องมีระบบอำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่ดี ส่วนในระยะยาวจะเป็นเรื่องของการขยายสนามบินของ ทอท.” นายชายกล่าว

Advertisment

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการเพิ่มเส้นทางการบินสำหรับปีนี้ว่า ในตารางบินฤดูร้อนที่จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ บริษัทมีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่อีกหลายเส้นทาง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-เพิร์ท (ออสเตรเลีย) เส้นทางกรุงเทพฯ-โคลัมโบ (ศรีลังกา) โดยจะเริ่มทำการบินตั้งแต่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป และกรุงเทพฯ-มิลาน (อิตาลี) เส้นทางกรุงเทพฯ-ออสโล (นอร์เวย์) และเส้นทางกรุงเทพฯ-โคชิ (อินเดีย) โดยจะเริ่มทำการบินตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้มีความต้องการสูง อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง และกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ (จีน) จาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-เฉิงตู (จีน) จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง (จีน) จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาริตะ (ญี่ปุ่น) จาก 2 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน รวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต จาก 8 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 10 เที่ยวบินต่อวัน เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจำนวน 161,067 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 87% ของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยเป็นรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 79.3% มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32,414 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับปี 2567 นี้ธุรกิจการบินยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง อาทิ ราคาน้ำมันที่ยังสูงต่อเนื่อง ราคาบัตรโดยสารที่ลดลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะไม่ดีนัก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าในปี 2568 นี้บริษัทจะสามารถทำรายได้รวมใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนการระบาดของไวรัสโควิดที่มีรายได้รวมที่ 1.84 แสนล้านบาท