อาการนอนไม่หลับ ภัยแฝงต่อร่างกาย-จิตใจ ในผู้สูงอายุ

พญ.พันนา สงค์ประเสริฐ” จิตแพทย์ประจำแอปพลิเคชัน BeDee โรงพยาบาลกรุงเทพ ดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)
พญ.พันนา สงค์ประเสริฐ” จิตแพทย์ประจำแอปพลิเคชัน BeDee โรงพยาบาลกรุงเทพ ดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)

อาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ภัยแฝงต่อร่างกาย-จิตใจ อาจทำให้เกิดโรคอื่นตามมา

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 เป็นวันที่ 3 แล้วสำหรับ “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งจัดโดยการผนึกกำลังกันระหว่าง “มติชน” และพันธมิตรด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 27-30 มิถุนายน 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

ภายในงานมีเวที Health Talk ในหัวข้อ “อาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ” โดย “พญ.พันนา สงค์ประเสริฐ” จิตแพทย์ประจำแอปพลิเคชั่น BeDee โรงพยาบาลกรุงเทพ ดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)

นอนไม่หลับเป็นภาวะหรือโรค

พญ.พันนากล่าวว่า การนอนไม่หลับมีทั้งเป็นโรคนอนไม่หลับโดยตรง หรือเป็นภาวะนอนไม่หลับที่สืบเนื่องมาจากโรคอื่น ๆ ก็ได้ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ ล้วนทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้ทั้งสิ้น

ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับมีแนวโนมสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่จะพบผู้มีปัญหานี้จำนวน 20% หรือในผู้สูงอายุ 5 คนจะมีปัญหานอนไม่หลับ 1 คน ซึ่งแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาวะเเวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทัังความเครียด มลภาวะ ก็ทำให้ภาวะนอนไม่หลับเกิดขึ้นเรื่อย ๆ

Advertisment

สำหรับผู้สูงอายุ วงจรการนอนจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้วเนื่องจากการสร้างฮอร์โมนที่ลดลง ทำให้การกลับมานอนเป็นปกตินั้นเกิดได้ยากขึ้น เริ่มนอนยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือตื่นเช้ากว่าปกติ ทำให้ง่วงในเวลากลางวัน ส่งผลให้พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงไป เพราะผู้สูงอายุหลายคนอาจแก้ปัญหาการง่วงตอนกลางวันด้วยกาแฟ ชา กาเฟอีน ซึ่งทำให้การนอนแย่ลงไปตามลำดับ

นอกจากวงจรการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป โรคประจำตัวของผู้สูงอายุก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และต่อมลูกหมากโต อาจต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือผู้ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด อาจทำให้เหนื่อยกลางคืน ทำให้สุขภาวะการนอนแย่ลงเช่นกัน

“ถ้าอยากงีบในเวลากลางวัน แนะนำว่าไม่ควรเกิน 30 นาที และควรเป็นช่วงก่อนเวลา 15.00 น. หลังจากนั้นจะไปรบกวนการนอนกลางคืนค่อนข้างเยอะ” พญ.พันนากล่าว

พญ.พันนา สงค์ประเสริฐ” จิตแพทย์ประจำแอปพลิเคชัน BeDee โรงพยาบาลกรุงเทพ ดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)

Advertisment

ภัยแฝง นอนไม่หลับ

พญ.พันนากล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงของปัญหานอนไม่หลับ คือการง่วงหรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ หรืออาจรู้สึกไม่มีแรง ยิ่งในผู้สูงอายุจะรู้สึกร่างกายไม่เเข็งแรงเต็มที่ สิ่งที่ตามมาคืออารมณ์ที่แย่ลง อ่อนไหวง่าย ตลอดจนวิตกกังวล และซึมเศร้า

โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้าวร้าวหรือหงุดหงิดมากขึ้น ซึ่งจะกระทบไปยังสมาธิ ความจำ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองได้

ผู้สูงอายุที่รู้สึกว่าร่างกายเริ่มถดถอยโดยปกติก็มีความกังวลเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เกิดการคิดวน ๆ ซ้ำ ๆ ซึ่งจะทำให้เป็นงูกินหาง กล่าวคือยิ่งกังวลยิ่งนอนไม่หลับ ยิ่งนอนไม่หลับก็ยิ่งทำให้กังวล ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้

มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการอาจต่างจากการเป็นซึมเศร้าในอายุน้อย เนื่องจากอาการทางกายจะค่อนข้างเยอะกว่า จึงมีความกังวลมากกว่า เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ทำงานได้ไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เหมือนเดิม หรือไม่ได้มีความสำคัญเหมือนเดิม

“ความใส่ใจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความเข้าใจในอาการของโรคเป็นเรื่องสำคัญ”

วิธีแก้ไข-ป้องกัน

พญ.พันนากล่าวว่า วิธีป้องกันหรือแก้ไขสำหรับเรื่องจิตใจ หากเป็นผู้สูงอายุความสังเกตตัวเอง ส่วนลูกหลานควรสังเกตผู้สูงอายุในบ้านว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายหรือใจอย่างไรบ้าง เช่น เริ่มบ่นว่านอนไม่หลับ หรือเครียดกังวลเรื่องอะไร โดยจะมีประโยคเตือนภัย เช่น ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า หรือเป็นภาระ เหล่านี้ต้องเฝ้าระวังอาการทางใจ หรือควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับผู้สูงอายุเอง ถ้าสังเกตว่าตัวเองไม่เหมือนเดิม เช่น อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย น้อยใจกว่าปกติ หรือเริ่มหลงลืมกว่าปกติ ก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้

อาหารเสริมที่แนะนำในผู้สูงอายุสำหรับปัญหาการนอนไม่หลับ เช่น วิตามินบี หรือวิตามินบีรวม ซึ่งจะช่วยการสร้างสารให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ วิตามินสามารถซื้อรับประทานเองได้ แต่ถ้าเป็นยาโดยตรง เช่น ยานอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ในทุกกรณี เนื่องจากมีทั้งที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ อาจไปผสมกับยาตัวอื่นที่ผู้สูงอายุใช้อยู่แล้วทำให้มีปัญหาตามมาได้

พญ.พันนา สงค์ประเสริฐ” จิตแพทย์ประจำแอปพลิเคชัน BeDee โรงพยาบาลกรุงเทพ ดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)

ปรึกษาแพทย์ผ่านแอป ลดเวลา-ค่าใช้จ่าย

พญ.พันนากล่าวว่า สำหรับแอปพลิเคชั่น BeDee เป็นการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นจิตเเพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางอื่น ๆ ครบทุกด้าน ซึ่งเป็นการสื่อสารออนไลน์ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาในการไปโรงพยาบาล และลดการติดเชื้อของผู้สูงอายุจากโรงพยาบาลในอีกทางหนึ่งด้วย

โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้แบบเป็นส่วนตัว เพียงเปิดแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ และวิดีโอคอลกับเเพทย์ พร้อมรับยาส่งตรงถึงที่บ้านได้เลย

“การปรึกษาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย การนอนไม่หลับหรือภาวะเครียดทั่วไปก็สามารถปรึกษาได้”

แล้วพบกันในงาน “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” วันที่ 27-30 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น. สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกปลอดภัยด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามย่าน ทางออก 2