“ทับหลังนารายณ์” สู่ “เสาติดผนังพระกฤษณะ” ย้อนรอยสถาบันศิลปะชิคาโกคืนโบราณวัตถุกลับไทย

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
ภาพจาก มติชน

สืบเนื่องจาก “สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก” (The Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุให้กับกรมศิลปากรจำนวน 1 รายการ ได้แก่ “ชิ้นส่วนเสาติดผนังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ” (Fragment of a Pilaster with Krishna lifting Mount Govardhana) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประเภทปราสาทหิน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 900 ปี ของปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนรอยเรื่องราวการส่งคืนโบราณวัตถุจากสถาบันศิลปะชิคาโก ที่เคยเป็นเหตุการณ์สุดโด่งดังในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งการส่งคืน “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง” ใน พ.ศ.2531 จนกระทั่งเสาติดผนังรูปพระกฤษณะกำลังจะได้กลับสู่มาตุภูมิ

เบื้องหลังส่งคืนเสาติดผนังพระกฤษณะ

“ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์” นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถาบันศิลปชิคาโก เป็นแห่งเดียวที่คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ ยังไม่ได้ส่งรายการติดตามทวงคืน เนื่องจากไม่มีข้อมูลโบราณวัตถุที่ต้องทวงคืนจากสถาบันศิลปะชิคาโกอยู่ใน 133 รายการทวงคืน ที่กรมศิลปากรรวบรวมให้คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ พิจารณา ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีรายชื่อสถาบันศิลปะชิคาโกปรากฏในรายการทวงคืนที่กรมศิลปากรรวบรวม แต่สถาบันศิลปะชิคาโกได้แจ้งความประสงค์ส่งคืนเสาติดผนังสลักรูปพระกฤษณะ จากปราสาทพนมรุ้ง กลับสู่ประเทศไทย

ดร.ทนงศักดิ์ สันนิษฐานว่า อาจมีการติดตามทวงคืนโดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ (United States Department of Homeland Security) และอัยการในแต่ละรัฐที่ดำเนินงานร่วมกันในการฟ้องร้อง พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ส่งคืนโบราณวัตถุกลับไปยังประเทศต้นทาง

Advertisment

เมื่อเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ จึงยินดีส่งคืนโบราณวัตถุคืนให้กับประเทศต้นทางก่อนที่คดีจะสิ้นสุดลง หรือตกลงยอมความนั่นเอง คล้ายกับกรณี “Golden Boy” ที่เพิ่งหวนคืนสู่ประเทศไทย แม้ประเทศไทยมีมติให้ทวงคืน แต่ยังไม่ทันได้ส่งเรื่องดำเนินการ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน” หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art : The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็โดนอัยการรัฐนิวยอร์กใต้สั่งฟ้องเสียก่อน จึงจำเป็นต้องส่ง Golden Boy คืนให้กับประเทศไทย

เสาติดผนังแสดงภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ปราสาทพนมรุ้ง
ชิ้นส่วนเสาติดผนังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ

จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นกรณีเดียวกันกับสถาบันศิลปะชิคาโก เนื่องจากประเทศไทยเองก็ไม่ได้รับคำชี้แจงจากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน ว่าเพราะเหตุใดสถาบันศิลปะชิคาโกจึงแจ้งส่งคืนเสาติดผนังสลักรูปพระกฤษณะ กลับสู่ประเทศไทย ดร.ทนงศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากร ระบุว่า ก่อนหน้านี้ “ดร. Nicolas Revire” ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและโบราณคดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันศิลปชิคาโก ได้เดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และพบหลักฐานที่เชื่อมั่นได้ว่าเสาติดผนังรูปพระกฤษณะที่สถาบันศิลปชิคาโกได้รับบริจาคเมื่อ พ.ศ. 2509 นั้นมาจากปราสาทพนมรุ้ง

สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก จึงมีความห่วงกังวลว่าโบราณวัตถุดังกล่าวอาจมีที่มาที่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีความประสงค์ส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาลไทย โดยสถานะปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารทรัพย์สิน (Board of Trustees) ของสถาบันศิลปชิคาโกได้อนุมัติให้ถอดโบราณวัตถุรายการนี้ออกจากทะเบียนของสถาบันแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา และได้ประสานกรมศิลปากรถึงขั้นตอนการเตรียมการส่งคืนสู่ประเทศไทย

Advertisment

ย้อนไทม์ไลน์ทวงคืนทับหลังจากชิคาโก

ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันโด่งดัง เมื่อ พ.ศ.2531 สถาบันศิลปะชิคโกได้ทำการส่งคืนโบราณวัตถุทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ กลับคืนสู่ประเทศไทย หลังจากถูกโจรกรรมไปนานร่วม 30 ปี

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง มีลักษณะเป็นพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา (พระวิษณุอนันตศายินปัทมนาภา) เหนือพญาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) โดยมีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ) ของพระองค์

นารายณ์บรรทมสินธุ์ในเกษียรสมุทร เป็นความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย ที่นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์ว่าเป็นใหญ่เหนือเทพองค์ใด เชื่อกันว่าเมื่อถึงวันสิ้นโลกพระนารายณ์ที่เป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์ปกป้องและรักษาจะกลับไปพักผ่อน ณ เกษียรสมุทร จากนั้นดอกบัวจะกำเนิดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์พร้อมพระพรหมผู้สร้างโลก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของโลกกัปต่อไป

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์-ภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park

คลังข้อมูล ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ระบุว่า เดิมทีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่ทางมณฑปทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง ก่อนตกลงมาที่พื้นและแตกออกเป็นสองส่วน หลักฐานแรกสุดเป็นรูปถ่ายในสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2472 และ “นายมานิต วัลลิโภดม” จากกรมศิลปากรถ่ายรูปไว้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2503

หลังจากนั้นทับหลังก็หายไป โดยกรมศิลปากรสามารถติดตามคืนมาได้เพียงชิ้นเดียว (ชิ้นที่สองคือที่ทวงคืนจากสถาบันศิลปะชิคาโก) ดร.ทนงศักดิ์ ระบุว่า เนื่องจากช่วงเวลาที่ทับหลังหายไปตรงกับยุคสงครามเวียดนาม จึงเชื่อกันว่าการโจรกรรมเป็นฝีมือของทหารอเมริกันที่ใช้เฮลิคอปเตอร์เข้ามาขนย้ายออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง แม้แต่วง “คาราบาว” ก็ได้แต่งเพลง “ทับหลัง” ซึ่งเนื้อเพลงก็พูดถึงการขนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์เช่นเดียวกัน

แต่จากการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน พบว่า การโจรกรรมทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ทำโดยฝีมือคนไทยเองที่ไปรับจ้างชาวต่างชาติขนโบราณวัตุลงมาจากโบราณสถาน โดยใช้วิธีเอาไม้ไผ่พาด และมีรถบรรทุกรออยู่ด้านล่าง ดังนั้น เหตุการณ์ที่ว่าทหารอเมริกันเอาเฮลิคอปเตอร์มาขนย้ายจึงไม่เป็นเรื่องจริง

“ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาติดต่อให้พาขึ้นไปเที่ยวบนปราสาทหินพนมรุ้ง พอขึ้นไปถึงก็ถ่ายรูปปราสาทอย่างเดียว จากนั้น 2 เดือนให้หลังก็เอาอัลบัมรูปนั้นมาให้ชาวบ้านดู แล้วจ้างให้ไปขนโบราณวัตถุลงมา ซึ่งจะตีมูลค่าแตกต่างกันไป โดยทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์มีมูลค่าประมาณ 1 แสนบาท ในสมัยนั้นก็ถือว่าเยอะ”

พบทับหลังที่ชิคาโก

ผ่านไปหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ.2519 “ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล” คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสมัยนั้น ได้ไปบรรยายที่สถาบันศิลปะชิคาโก และได้เห็นทับหลังชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ จึงได้รายงานกลับมายังกรมศิลปากรให้ดำเนินการติดต่อขอคืนใน พ.ศ. 2519 ซึ่งเรื่องเงียบหายไปนานกว่า 10 ปี

ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า การทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากสถาบันศิลปะชิคาโก เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นหน่วยงานเอกชน และไม่มีกฎหมายข้อใดในสมัยนั้นที่ระบุถึงการทวงคืนโบราณวัตถุ ตลอดจนกฎหมายที่ปราบปรามการค้าของโจรหรือของผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ดำเนินการจริงจัง

เวลานั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพิพิธภัณฑ์ในลักษณะนี้เป็นของเอกชนที่เป็นนักสะสม โดยจะนำโบราณวัตถุส่วนหนึ่งไว้เพื่อการวิจัยและศึกษา ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สหรัฐฯ จึงเสียผลประโยชน์ด้านภาษี ตลอดจนการปราบปรามการทุจริตด้วยวิธีฟอกเงินโดยใช้โบราณวัตถุ

เนื่องจากต้องใช้หลายขั้นตอนในการติดตามทวงคืน ประเทศไทยจึงต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อโบราณวัตถุกลับสู่มาตุภูมิ เช่น กรณี พระพุทธรูปนาคปรก วัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขไทย ซึ่ง “นายธนินท์ เจียรวนนท์” และ “นายวัลลภ เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนค่าชดเชย ใน พ.ศ.2539 เป็นต้น

ต่อเมื่อสหรัฐฯ มีกฎหมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อปราบปรามการกระทำดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีช่องทางสามารถติดตามทวงคืนโบราณวัตถุอื่น ๆ ได้สะดวกมากขึ้น ระยะหลังมานี้จึงปรากฏข่าวการส่งคืนโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ สู่ประเทศต้นทางอยู่บ่อยครั้ง

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
ภาพจาก มติชน

กลับสู่มาตุภูมิ

ดร.ทนงศักดิ์ ระบุอีกว่า สำหรับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในตอนแรกสถาบันศิลปะชิคาโกไม่ยอมคืนให้ประเทศไทย โดยต่อรองว่าต้องการโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอื่น ๆ ของไทยไปแลกเปลี่ยน นั่นคือ “ใบเสมาพิมพาพิลาป” เมืองฟ้าแดดสวนยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

เนื่องจาก ใบเสมาพิมพาพิลาปเป็นโบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่สำคัญที่สุดอีกชิ้นหนึ่ง มีอยู่เพียงชิ้นเดียวในประเทศไทยหรืออาจเป็นชิ้นเดียวในโลก มีลักษณะเป็นรูปพระนางพิมพาสยายผมเช็ดพระบาทพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน และอาจมีคุณค่ามากกว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เสียอีก

ต่อมา ชาวไทยในชิคาโก รวมทั้งชาวอเมริกันในหลายเมืองได้ลุกฮือเรียกร้องให้สถาบันศิลปะชิคาโกส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนสู่ประเทศไทย กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก จนมีส่วนทำให้สถาบันศิลปะชิคาโกต้องส่งทับหลังกลับสู่ประเทศไทย

โดยสถาบันศิลปะชิคาโกได้ส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ในพระนามของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล และถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2531

อย่างไรก็ตาม ดร.ทนงศักดิ์ ระบุว่า ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมา ไม่ใช่เพราะการเดินขบวนและใช้มวลชนกดดันอย่างเดียว แต่ข่าวนี้ก็ถูกคัดค้านอยู่เสมอจากคณะผู้แทนที่รัฐบาลไทยส่งไปเจรจา

ทั้งนี้ แม้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่กลายเป็นภาพจำของคนไทยเรื่องการทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างแดน ไม่ใช่โบราณวัตถุชิ้นแรกที่ดำเนินการทวงคืนได้สำเร็จ ก่อนหน้านั้นมี ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กู่สวนแตง จากปราสาทกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้ถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2507

ก่อนจะไปปรากฏในแคตตาล็อกของ “Mr.Avery Brundage” และนำไปจัดแสดงที่ “De Young Museum” ในซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งติดตามทวงคืนเป็นเวลานานเช่นกันก่อนที่ทับหลังกู่สวนแตงจะกลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2513 โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นับว่าเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการส่งคืนโบราณวัตถุของประเทศไทยในต่างแดน โดยเฉพาะกรณี เสาติดผนังสลักรูปพระกฤษณะ ซึ่งเป็นรายการล่าสุดในรอบเกือบ 40 ปี ตั้งแต่สถาบันศิลปะชิคาโกส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง คืนสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2531 ก็ไม่มีรายการใดอีกเลยที่ประเทศไทยได้รับการส่งคืนโบราณวัตถุจากสถาบันแห่งนี้ และมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ อีกที่จะถูกทยอยส่งคืนมายังประเทศไทย