มหาวิทยาลัยยั่งยืน ชู SDGs ขับเคลื่อนโลกการศึกษา

ขณะที่แรงกดดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ (United Nations’ 17 Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ต้องบรรลุภายใน 15 ปี หรือภายในปี 2030 มีเพิ่มขึ้น ทำให้เป้าหมายเร่งด่วนนี้ต้องการส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม

เนื่องเพราะมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาเป็นเสาหลักสำคัญ ทั้งยังมีส่วนร่วมใน SDGs หลายวิธี เช่น นำไปสอดแทรกเข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้, สร้างหลักสูตรการศึกษาและการวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมาย, กระตุ้นนักศึกษาและผู้สอนร่วมพัฒนาชุมชนและมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยตรง, สร้างอิมแพ็กต์ต่อผู้คน และทำงานร่วมกันหน่วยงานอื่น ๆ แบบสหวิทยาการ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จึงจัดอันดับ “Impact Rankings” เพื่อยกย่องมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของโลก ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และบวกอีก 2 มิติ คือ ด้านสันติภาพและสถาบัน และด้านหุ้นส่วนการพัฒนา

“ฟิล บาตี” Chief Global Affairs Officer สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education (THE) กล่าวว่า การจัดอันดับ Impact Rankings ปีนี้เป็นปีที่ 6 และ THE ทำการประกาศผลระหว่างงาน Global Sustainable Development Congress (GSDC) หรือการประชุมสุดยอดผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก ประจำปี 2024 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการผนึกกำลังในการจัดงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

“นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราร่วมมือกับกระทรวง อว. เพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุม Global Sustainable Development Congress งานนี้รวมภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเข้ากับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เหมาะสมในการจัดงาน ทั้งยังเป็นตัวอย่างในแง่ของกรณีศึกษาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดี”

Advertisment

โดยไฮไลต์สำคัญภายในการประชุม คือ Global Sustainability Leaders’ Summit หรือการประชุมสุดยอดผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก โดยมีผู้นำจากหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ รัฐบาล การศึกษาระดับอุดมศึกษา และภาคประชาสังคมกว่าจำนวน 150 คน มารวมตัวกัน เพื่อระดมสมอง และหาแนวทางแก้ปัญหาเชิงรูปธรรมด้านความยั่งยืนของโลก

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุม International Green Skills Summit และ THE’s DataLabs ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความยั่งยืนในการศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านข้อมูลต่าง ๆ การวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นที่ประจักษ์จากทั่วมุมโลก ภายในงานพื้นที่งานนิทรรศการที่รวบรวมมหาวิทยาลัย และสมาคมชื่อดังมากมายจากประเทศไทยและทุกทั่วมุมโลกที่มาร่วมแสดงความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน

ฟิล บาตี
ฟิล บาตี

“ฟิล บาตี” กล่าวด้วยว่า แม้ไม่ใช่ทุกเป้าหมายใน SDGs ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมหาวิทยาลัย แต่เราเชื่อว่าภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้บรรลุตามวาระ SDGs โดย Impact Rankings

เป็นการจัดอันดับหนึ่งเดียวของโลกที่สามารถชี้วัดการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยต่อการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเมินความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การวิจัย 2.การบริหารจัดการเชิงบูรณาการ 3.การบริการวิชาการ และ 4.การเรียนการสอน

Advertisment

“ปีนี้มีมหาวิทยาลัย 2,152 แห่งจาก 125 ประเทศ/ภูมิภาคร่วมการประเมิน เพิ่มขึ้น 26% จากปีที่แล้ว โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยร่วมประเมินมากที่สุดถึง 96 แห่ง ส่วนประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศต้น ๆ ของโลก หรือเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางด้านการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยปีนี้ไทยมีจำนวนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประเมิน Impact Rankings สูงสุด มากกว่าที่เคยเข้าร่วมในปีที่ผ่าน ๆ มา และสามารถแสดงผลงานดีขึ้น โดยไต่อันดับเข้าไปอยู่ในท็อป 20 ของหมวดหมู่คะแนนโดยรวมได้ ส่วนจุดเด่นของมหาวิทยาลัยไทยเป็นเรื่องการเรียนการสอน”

สำหรับผลการจัดอันดับระดับโลกอันดับ 1 คือ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ (WSU) ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 3 ปี ด้วยคะแนน Overall 99.7 ส่วนมหาวิทยาลัยไทยที่มีอันดับโลกสูงสุดอยู่อันดับที่ 19 คือ มหาวิทยาลัยมหิดล คะแนน Overall 94.9 ไต่อันดับขึ้นมา 19 อันดับจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับที่ 38 รองลงมาในไทย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คะแนน Overall 92.6 เป็นอันดับที่ 43 ของโลก ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 17

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

“ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล” รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเสริมว่า Times Higher Education (THE) เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านข้อมูลการศึกษาระดับอุดมศึกษา และมีการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาในระดับนานาชาติ หรือ World University Rankings เป็นประจำทุกปี

และสำหรับ Impact Rankings เป็นอีกสาขาหนึ่ง ที่เน้นในเรื่องความยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ซึ่งมหาวิทยาลัยของไทยทำตามเกณฑ์การประเมิน 4 ข้อของ Impact Rankings ได้ครบ

“มหาวิทยาลัยไทยมีความเข้มแข็งด้านนี้ เพราะมีการทำงานร่วมกับพื้นที่ชุมชนมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งจากการสำรวจ เด็กไทยมีความเข้าใจเรื่อง SDGs กว่า 80% สะท้อนว่าสถาบันการศึกษามีส่วนในการปลูกฝังเรื่องนี้กับเด็ก ๆ อย่างมาก

แต่จุดอ่อนของมหาวิทยาลัยไทยอาจเป็นเรื่องงานวิจัยเชิงพื้นที่ ที่ไม่สามารถแปลงงานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่ระดับสากลได้ ซึ่งความเป็นสากลไม่ใช่เพียงเรื่องภาษา แต่รวมถึงเนื้อหา และกระบวนการวิจัยที่เป็นสากล โดย อว.ได้เข้าไปสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อปรับเรื่องงานวิจัยให้ตรงตามเป้าหมาย SDGs มากยิ่งขึ้น”

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร

“ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ ผ่านนโยบายและการบริหารจัดการ การวิจัยและนวัตกรรม การเรียนการสอน ตลอดจนการเข้าถึง และการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่าเริ่มต้นที่เราทุกคน

“เราเชื่อว่าการทำความยั่งยืนให้ได้ผลดีที่สุดคือการโฟกัส และปรับบริบทให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีปัญหาแตกต่างกัน ดังนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยจึงมีกระบวนการที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มุ่งเพื่อเป้าหมายของ SDGS เช่นเดียวกัน

เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่มากกว่าการปลูกต้นไม้ ทั้งยังรวมถึงความเท่าเทียมด้านต่าง ๆ ทั้งเพศ และความเท่าเทียมด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเรื่องความยั่งยืนอยู่ในวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ เราเน้นทำต่อเนื่อง ไม่ฉาบฉวย และมีกลิ่นอายความเป็นไทย มีเอกลักษณ์ตามแบบของเรา”

นับว่าการจัดอันดับ Impact Rankings มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในแต่ละปี เนื่องจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งมอบ SDGs เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต