ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ เลือกองค์กรใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์-มานิตา ลิ่มสกุล
ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์-มานิตา ลิ่มสกุล

หากกล่าวถึงกลุ่มคน Gen Z และ Millennials ที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก พวกเขามักให้ความสนใจร่วมงานกับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ และไม่กลัวที่จะปฏิเสธการร่วมงานกับองค์กรที่มีแนวทางไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง

เช่น องค์กรที่สร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีส่วนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมผ่านแนวปฏิบัติที่ไม่ครอบคลุม และปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น องค์กรที่ขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของพนักงาน และความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ด้วยเหตุนี้ องค์กรทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการพยายามทำความเข้าใจคนทุกกลุ่ม

ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชั้นนำรายหนึ่งของโลก จึงทำการสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากคนทั้งหมด 22,841 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย แบ่งเป็น Gen Z 14,468 คน และ Millennials 8,373 คน ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลชาวไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“อริยะ ฝึกฝน” กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า การสำรวจ Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13 เพื่อสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนกลุ่มนี้ และติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ

โดยล่าสุดรวบรวมความคิดเห็น 22,841 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 19-29 ปี จำนวน 14,468 คน และ Millennials ที่มีอายุระหว่าง 30-41 ปี จำนวน 8,373 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567

Advertisment

สำหรับ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey-Thailand Perspective มีผู้เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน แบ่งเป็น Gen Z จำนวน 201 คน และ Millennials จำนวน100 คน โดยกระจายผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิง และชายเท่า ๆ กัน

“ผลสำรวจบอกว่า กลุ่มคน Gen Z และ Millennials ในประเทศไทย มีความเครียด และความกังวลในเรื่องต่าง ๆ น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยค่าครองชีพเป็นต้นเหตุของความกังวลอันดับ 1 ขณะที่มุมมองในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม คนไทยทั้งสองกลุ่มนี้มีความคาดหวังจากภาครัฐและภาคเอกชนลดลง

แต่หันมาเชื่อในพลังของตนเองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน ต้องการทำงานที่ตรงตามความมุ่งหมายของตน อยากอยู่กับองค์กรที่เห็นคุณค่าตรงกัน และเลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่ขัดกับคุณค่าของตัวเอง”

ด้านสิ่งแวดล้อม พวกเขามีความกังวลสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ มองว่าภาครัฐ และภาคธุรกิจควรมีบทบาทมากกว่านี้ โดยคนรุ่นใหม่พร้อมใจจะมีส่วนผลักดันในเรื่องนี้ ทั้งการผลักดันองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ รวมถึงยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Advertisment

ส่วนด้านการทำงาน คนไทยรุ่นใหม่เลือกองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work-life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และเป็นงานที่มีความหมาย อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมคนไทยทั้งสองกลุ่มเห็นว่านายจ้างใส่ใจต่อความรู้สึก และมีความเห็นอกเห็นใจลูกจ้างมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก

“อริยะ” อธิบายว่า 3 อันดับแรกที่คน Gen Z กังวลมากที่สุดในด้านสุขภาพจิต และความกังวลคือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การว่างงาน (ร้อยละ 36) และความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 21) ขณะที่คน Millennials มีความกังวลมากที่สุดในเรื่องค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 26) และความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก (ร้อยละ 24)

นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z ในประเทศไทย ร้อยละ 42 และ Millennials ร้อยละ 60 รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยคน Gen Z ระบุว่า มีความเครียดน้อยลงจากร้อยละ 51 เหลือร้อยละ 40 และคน Millennials ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 39 เหลือร้อยละ 38

ขณะที่มุมมองด้านเศรษฐกิจ และสังคม คน Gen Z และ Millennials มีความคาดหวังว่าอีก 12 เดือนจะไม่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยจำนวนคน Gen Z ที่คาดหวังว่าจะดีขึ้นลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และ Millennials ลดลงจากร้อยละ 26 เหลือร้อยละ 22

ส่วนความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง จำนวนคน Gen Z ที่มองว่าจะดีขึ้น ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 19 และจำนวนคน Millennials ลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 33 และความคาดหวังต่อสถานการณ์การเมืองของ Gen Z ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และ Millennials ลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 23

“คนไทย 2 กลุ่มนี้ชอบร่วมงานกับองค์กรที่สร้างผลกระทบด้านบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลสำรวจพบว่าร้อยละ 42 ของ Gen Z และร้อยละ 45 ของ Millennials เชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และ 47 ตามลำดับ

ซึ่งคนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่าภาคธุรกิจควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองภาคธุรกิจควรสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน รวมถึงการให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และสร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไม่ซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”

ดังนั้น เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Gen Z และ Millennials ในประเทศไทย ร้อยละ 81 และ 92 ตามลำดับ ตอบว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลก อย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 62 และ 59 ตามลำดับ

นอกจากนั้น Gen Z ร้อยละ 90 และ Millennials ร้อยละ 91 มองว่า ภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 92 ของ Gen Z และร้อยละ 93 ของ Millennials ยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้น ๆ ทานมังสวิรัติ และเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า

“มานิตา ลิ่มสกุล” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Human Capital ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวเสริมว่า เรื่องการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี หรือ Mental Well-being เป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มเจนซี และมิลเลนเนียล คือแรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในวันนี้ องค์กรที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลคนรุ่นใหม่อย่างถูกต้อง จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ

“คนไทยรุ่นใหม่มีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยร้อยละ 96 ของ Gen Z ในประเทศไทย และร้อยละ 99 ของ Millennials ตอบว่าการมีเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญ หรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงาน และความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลกที่ร้อยละ 86 และร้อยละ 89 ตามลำดับ”

อย่างไรก็ดี ร้อยละ 91 ของ Gen Z ในไทย และร้อยละ 93 ของ Millennials ในไทยบอกว่า งานปัจจุบันทำให้ตนเองรู้สึกมีเป้าหมาย ที่สำคัญไปกว่านั้นคือร้อยละ 55 ของ Gen Z และร้อยละ 60 ของ Millennials ในประเทศไทย ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง

ร้อยละ 55 ของเจนซี และร้อยละ 57 ของมิลเลนเนียล ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรม และความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work-life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และเป็นงานที่มีความหมาย

“ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์” ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจมีความน่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของคนไทยที่มีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกในหลายแง่มุม ถ้ามองให้ละเอียดกว่านั้น จะเห็นถึงความแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนอีกด้วย

สำหรับมุมมองที่คนกลุ่มนี้มีต่อนายจ้าง ในภาพรวมเห็นว่านายจ้างมีความใส่ใจต่อพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดย Gen Z ร้อยละ 70 และ Millennials ร้อยละ 74 ตอบว่านายจ้างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน นอกจากนั้น Gen Z ร้อยละ 77 และ Millennials ร้อยละ 76 ตอบว่ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้จัดการอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ

และ Gen Z ร้อยละ 73 และ Millennials ร้อยละ 68 บอกว่า หัวหน้างานรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการพูดคุยสื่อสารเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งคำตอบของไทยทั้งสองกลุ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละกว่า 52-59