6 องค์กร ผนึกกำลัง สู้โลกร้อนผ่าน “ตันแลนด์”

ขยะคือหนึ่งสาเหตุหลักของวิกฤตสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารโลกประมาณการว่าภายในปี 2593 มนุษย์จะสร้างขยะ 3.88 พันล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 73% จากปี 2563

ด้วยเหตุนี้ อิชิตัน กรุ๊ป จึงผนึกกำลังกับ 5 พันธมิตรด้านความยั่งยืน ได้แก่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง, นิว อาไรวา, เฟลเทค แมนูแฟคเจอริ่ง, อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ และทิฟฟานี เดคคอร์ มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุล” ที่เพิ่งรีโอเพนนิ่งในปีนี้ หลังจากปิดมาตั้งแต่น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554

“ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อิชิตันให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่วันแรกของการสร้างโรงงานอิชิตันกรีนแฟคทอรี่ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยตั้งใจออกแบบโรงงานให้มีต้นไม้จำนวนมาก และสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ in-process ผ่านกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อิชิตันลงทุนเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย ระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อที่คงคุณค่าสารอาหารได้ดีกว่าแบบดั้งเดิม ลดการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ จากเดิมในอดีตใช้ 26 กรัมต่อขวด ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 17.5 กรัมต่อขวด และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั้งขวด ฝาปิด ฉลาก และลัง เพื่อให้พร้อมสำหรับนำกลับเข้าสู่ Circular Economy

Advertisment

“สินค้ากลุ่มแรกเป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% คือ อิชิตันกรีนทีขนาด 500 มล. และชิซึโอกะกรีนทีขนาด 440 มล. และในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ เราจะเริ่มใช้ rPET (พลาสติกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่) 30% ทดแทนพลาสติกใหม่ในผลิตภัณฑ์อิชิตันกรีนทีขนาด 500 มล. ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 175 ตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 ที่อิชิตันกำหนดไว้”

“ตัน” กล่าวด้วยว่า น้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทยเมื่อปี 2554 ทำให้เข้าใจถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง แม้ว่าตอนนี้ประชาคมโลกกว่า 200 ประเทศให้คำมั่นในความตกลงปารีส COP 28 ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไป 1.5 องศาเซลเซียส

โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกระบุว่าเป็น “จุดเปลี่ยนหลัก” ที่หากโลกของเรามีอุณหภูมิสูงกว่านี้ ธรรมชาติจะอยู่ในสภาพเกินรับไหวจนไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก (Point of No Return) และอาจส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก

“อิชิตันมีความตั้งใจที่จะทำภารกิจจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น แต่ผมตระหนักว่าการทำเพียงลำพังอาจไม่ทันการ จึงผนึกกำลังกับพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อแสดงความตั้งใจในการผลิตอย่างรับผิดชอบ และนำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนแก่ผู้บริโภค ผ่านศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ที่เพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้ง

Advertisment

ตันแลนด์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ความรู้กับประชาชน โดยมีการบอกเล่าเส้นทางชีวิตใหม่ของขยะจากหลุมฝังกลบสู่ผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง และนำนวัตกรรมที่ก้าวหน้าด้าน Upcycling การนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้กลายเป็นสิ่งใหม่ของพันธมิตรทั้ง 5 มาจัดแสดงภายในศูนย์ด้วย เพราะหากผู้คนเข้าใจเรื่องปัญหาโลกร้อน ก็จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายเพื่อโลกร่วมกัน”

“กาญจนา อารักษ์วทนะ” Fiber Packaging Marketing Director บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งมอบโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความสะดวกปลอดภัย ช่วยยืดอายุสินค้า สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

“เราใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การพัฒนาวัตถุดิบ เส้นใย และสารเติมแต่ง ส่วนกลางน้ำ คือ การพัฒนาวัสดุกระดาษและพลาสติก และปลายน้ำ คือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อจุดประกายการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมก้าวหน้า และเติบโตอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวคิด ESG ด้วยวิธีง่าย ๆ ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก เริ่มได้วันนี้ที่ตัวเรา”

“ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์” ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (QUALY) บริษัท นิว อาไรวา จำกัด กล่าวว่า บริษัทนำขวดที่เสียจากกระบวนการผลิตมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ Qualy เพราะเราตั้งใจเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันที่ออกแบบเพื่อโลกที่ยั่งยืน

“ภายใต้แนวคิด Circular Design เพื่อให้ทุกคนมีความสุขไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ Qualy ส่งออกแล้วกว่า 50 ประเทศ ได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมายทั้งในและต่างประเทศ การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ นับเป็นโอกาสดีที่ได้เผยแพร่แนวคิดรักษ์โลกสไตล์สร้างสรรค์แบบที่ Qualy ทำ ไปสู่เยาวชนและผู้ที่จะมาเข้าชมที่นี่อีกจำนวนมาก ได้เห็นว่ามีหลายแนวทางที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนไปด้วยกันได้”

“เฉลิมชัย พัวพิพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟลเทค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทพัฒนาแผ่น Acoustic และพรมแผ่นภายใต้แบรนด์ Acoupanel จากการนำขวดที่ใช้แล้วผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยนวัตกรรมขั้นสูงที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO 14025 Environmental Labels and Declarations

“ผลิตภัณฑ์ของเฟลเทคเป็นส่วนหนึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ตรงกับความมุ่งมั่นของเฟลเทคที่มีแนวคิดในการพัฒนาสินค้า โดยใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ มาเป็นส่วนประกอบหลักมากถึง 40-80% และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบให้มีความสวยงาม มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม”

“ดร.วันทิพย์ ชวาลีมาภรณ์” รองกรรมการผู้จัดการ จาก บริษัท อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและมีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของโลก จึงมีผลิตภัณฑ์ในหมวดความยั่งยืนหลากหลาย อาทิ ผ้า Zeclo เป็นผ้าย่อยสลายเองได้ ผ้า Upcycling เป็นต้น

“อาร์ทีดีฯเป็นผู้ผลิตผ้าที่เน้นนวัตกรรมและความยั่งยืนของไทย เรามีความภาคภูมิใจที่เป็นพันธมิตรกับศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ เพื่อสร้างความตระหนักในสังคมในวงกว้างและขับเคลื่อนให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม”

“วิกรานต์ ตั้งศิริพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟานี เดคคอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตและติดตั้ง หินสังเคราะห์ ประเภท ACRYLIC SOLID SURFACE รายเดียวในประเทศไทย ในนามแบรนด์ SOLITAIRE Solid Surface เราเห็นถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่าสูงสุด

โดยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโครงการที่นำวัสดุเหลือใช้กลับมารีไซเคิล เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กากกาแฟ กากใบชา หรือเศษหินสังเคราะห์ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต นำมาประยุกต์ใช้กับหินสังเคราะห์ SOLITAIRE Solid Surface

“จึงเกิดเป็นหินสังเคราะห์รุ่น Re-Series (Recycle-Series) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้ไม่รู้จบ เพื่อช่วยลดปัญหาการย่อยสลายยากที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก”

นับเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดของคนรุ่นต่อไป