แผนไฟฟ้าพลังงานสะอาด ดึง “ลงทุน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ESG

หนึ่งในนโยบายสำคัญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด ไฟฟ้าสีเขียว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดมลพิษ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และเสริมสร้างเศรษฐกิจแบบ “ซีโร่คาร์บอน”

โดยรัฐบาลส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และผลักดันนโยบายด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม จากการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จากปัจจุบัน 11% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพิ่มสัดส่วนเป็นมากกว่า 50% ส่วนก๊าซธรรมชาติ 30-40% ไฮโดรเจน 5-20% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ลดการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด 100% (RE100) มากถึง 12,000 เมกะวัตต์ (MW)

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ขับเคลื่อนกลไกการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff (UGT) เพื่อส่งเสริมการนำไฟฟ้าพลังงานสะอาดไปใช้กับภาคอุตสาหกรรม และได้นำร่องพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน แบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 จำนวนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิในใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) มาเป็นองค์ประกอบหลักของกลไกนี้ โดยมีการขายไฟฟ้าสีเขียวพร้อมใบรับรองฯ (REC) สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึงผู้ผลิต แหล่งผลิต สร้างความมั่นใจว่าเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาดบรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับนโยบายพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน

อัพเดตแผน PDP 2024

แผน PDP 2024 ฉบับใหม่จะพิจารณาถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของระบบ 2.ราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และ 3.สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP 2018 เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซลาร์จะมีสัดส่วนเยอะที่สุด ตามด้วยพลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล รวมถึงจะบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage)

Advertisment

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับสมาคมพลังงานลมถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในแผน PDP 2024 จากเดิมที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ที่มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ แผน PDP ฉบับล่าสุดยังเพิ่มพลังงานทางเลือกใหม่อีก 5% อาทิ พลังงานไฮโดรเจนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากแผน PDP 2018 ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR)

รักษาระดับไฟฟ้า Base Load

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน พบว่าค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ค่าพีก) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. มีค่าเท่ากับ 36,792.1 เมกะวัตต์ สูงกว่าค่าพีกระบบที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน มีค่าเท่ากับ 34,826.5 เมกะวัตต์

ดังนั้นกำลังผลิตของพลังงานฟอสซิลที่เป็นโรงไฟฟ้า Base Load (ความต้องการกำลังไฟฟ้าต่ำสุด โดยเฉลี่ย) โดยปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงเหลือประมาณ 30% ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ รวมถึงรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป

Advertisment

พลังงานสะอาดดึงลงทุน

มุมมองของ “นที สิทธิประศาสน์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่า นักลงทุนจะมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้นมาก เพราะเป็นโซลูชั่นสำคัญแก้ปัญหาโลกร้อนที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ตอนนี้จึงต้องค่อย ๆ ลด และสุดท้ายค่อยเลิก

ยกตัวอย่าง ถ่านหินจะลดละเลิกภายในปี 2050 ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุดยังต้องรักษาอยู่ในสัดส่วน 15-20% ไม่ใช่จะหายไปทั้งหมด ควบคู่กับการพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ โรงไฟฟ้าก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้ ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเสริมความมั่นคง และยังมีเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไฮโดรเจน และอื่น ๆ เข้ามาอีก

“วันนี้ระบบตอบโจทย์ไฟฟ้า RE100, RE50, RE30 ไม่ได้ เพราะวันนี้ไฟฟ้า RE ในระบบอยู่ที่ประมาณ 11%”

ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด สัดส่วนเพิ่มขึ้น ก็ต้องส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุนผลิตไฟฟ้าสีเขียวแล้วซื้อขายกันเอง ผ่านสายส่งของการไฟฟ้าฯ ซึ่งการไฟฟ้าฯเสียโอกาสในการขาย ดังนั้นคนที่มาใช้สายส่งต้องจ่ายค่าสายส่งให้กับการไฟฟ้าฯก็ยังได้บ้างเพื่อแทนค่าไฟที่ขายได้ ทุกคนต้องอยู่ได้ ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะเข้ามา ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกรอบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า RE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม

โดยแนวโน้มทิศทางความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ด้านพลังงานสะอาดทุกประเภท ยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะ ตามข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเคยบูมสูงสุดเมื่อปี 2565 ที่จำนวน 452 บริษัท เพิ่มขึ้น 17% และมีเม็ดเงินลงทุนถึง 18,312 ล้านบาท

ขณะที่ล่าสุดในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2567 มีจำนวน 89 ราย รวมเม็ดเงินลงทุน 310 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินการพลังงานสะอาดอยู่ ณ 30 เมษายน 2567 รวม 3,736 ราย มูลค่าลงทุน 776,231 ล้านบาท

หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเศรษฐาจะช่วยผลักดันให้ความต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะนั่นย่อมหมายถึงการเพิ่มขึ้นของการดูแลสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของคนไทยเช่นกัน