ถอดโมเดล 4 ยักษ์ธุรกิจ เคลื่อนทัพ “เศรษฐกิจสีเขียว”

ESG

การนำพาธุรกิจสู่โลกแห่งความยั่งยืนและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถือเป็นโจทย์ท้าทาย และภารกิจของทุกองค์กรที่ต้องวางแนวทางเพื่อขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจสู่เศรษฐกิจสีเขียวหรือเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

เพราะทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ที่กำลังกลายเป็นโลกเดือด ประเทศต่าง ๆ เร่งสร้างกฎกติกาการค้าโลกใหม่ เพื่อลดการสร้างผลกระทบ เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีราคาที่ต้องจ่าย

สำหรับยักษ์ธุรกิจของไทยส่วนใหญ่ก็เดินหน้าปรับตัวเคลื่อนทัพสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยโมเดลและแนวทางที่แตกต่างกันตามทิศทางของแต่ละธุรกิจ

ยักษ์เครื่องดื่มขอคืน “น้ำ” สู่ธรรมชาติ

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแถวหน้าที่ให้ความสำคัญกับ “ความเสี่ยง” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ต้องใจ ธนะชานันท์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ไทยเบฟมีกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ คือ 1.ภายในองค์กรทุกส่วน 2.การร่วมมือกับพันธมิตธุรกิจ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ และ 3.สร้างแพลตฟอร์มสาธารณะให้ทุกคนมีส่วนร่วม เช่น การจัดงาน Sustainable Expo

Advertisment

เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ไทยเบฟให้ความสำคัญกับเรื่อง “น้ำ” เป็นอันดับแรก เพราะเป็นธุรกิจที่มีการใช้ “น้ำ” ผลิตเครื่องดื่มปริมาณมาก และการผลิตน้ำ 1 ลิตร ไม่ได้ใช้น้ำแค่ 1 ลิตร เพราะมีน้ำทิ้งจากการผลิตและการชำระล้างบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

“ฉะนั้นเราต้องลดการใช้น้ำ ใช้น้ำแต่ละหยดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติ ผ่านการสร้างเขื่อน ฝายปลูกต้นไม้ ซึ่งในส่วนนี้บริษัทตั้งเป้าว่าจะคืนน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติให้ได้ 100% ภายในปี 2040 โดยปีที่ผ่านมาก็คืนน้ำสู่ธรรมชาติได้แล้ว 5%”

ส่วนแพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ ยึดหลักหมุนเวียนได้ ย่อยสลายได้ โดยแต่ละปีไทยเบฟมีการผลิต 5,000 ล้านขวดเป็นขวดแก้วกว่า 2,000 ล้านขวด ขวด PET กว่า 2,000 ล้านขวด และปีนี้จะเปลี่ยนขวด PET เป็น rPET (ขวดพลาสติกรีไซเคิล) สัดส่วน 30%

“แสนสิริ” ชูโมเดล 3 เขียว

สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นผู้นำแห่งวงการ รวมทั้งเรื่อง Green Economy โดยแสนสิริประกาศจับมือ “กรีนพาร์ตเนอร์” แถวหน้ากว่า 30 องค์กร เพื่อร่วมสนับสนุนการทำงานในอีโคซิสเต็มให้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

Advertisment

“อุทัย อุทัยแสงสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิรินำเสนอทั้งผลิตภัณฑ์ และบริการด้านการอยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสังคม และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโมเดลที่ทำ คือ “นวัตกรรมบ้านสีเขียว” ด้วยกลไกการทำงาน 3 เรื่อง

หนึ่ง Green Procurement คือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สอง Green Construction การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพ ทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, ลดระยะเวลาก่อสร้างลง 3 เดือน, ลดขยะจากการก่อสร้างรวมถึงช่วยลดฝุ่นในการก่อสร้าง

สาม Green Architecture & Design การออกแบบที่อยู่อาศัยให้ใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย (Well-being)

บางจาก SAF บิ๊กโปรเจ็กต์พลังงานทางเลือก

ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหนึ่งในผู้นำขับเคลื่อนพลังงานสะอาดทั้งพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานใต้พิภพ ไปจนถึงการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานและซื้อขายไฟฟ้าผ่านบล็อกเชน

และอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ใหญ่คือ การตั้งโรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) เป็นการผลิตน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการทำอาหารเป็นรายแรกในประเทศไทย บนพื้นที่ 8.9 ไร่ ภายในโรงกลั่นบางจาก ด้วยงบประมาณ10,000 ล้านบาท

พร้อมกับโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” รับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิต “น้ำมันเครื่องบิน”

“น้ำมันอากาศยานยั่งยืน” ถือเป็นทางเลือกสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดของธุรกิจสายการบิน ซึ่งเป็นหนึ่งธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 80%

ปัจจุบันสหภาพยุโรป (อียู) มีกติกาว่า สายการบินที่บินในยุโรปต้องเติมน้ำมัน SAF สัดส่วน 2% ในปี 2568 และทยอยเพิ่มเป็น 90% ในปี 2593

ซีพีกับ 3 เป้าหมายใหญ่แห่งความยั่งยืน

อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี ที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นประเด็นท้าทายของธุรกิจที่จะต้องปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้กฎกติกาใหม่เพื่อเคลื่อนทัพสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ตั้ง 3 เป้าหมายใหญ่ ดังนี้

1.ด้านพลังงาน เป้าหมายของซีพีและบริษัทในเครือ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้และสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งซัพพลายเชน เช่น มีแอป ForFarm ระบบตรวจสอบย้อนกลับให้กับเกษตรกร รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องสายพันธุ์พืชดูดคาร์บอน เพื่อสามารถทำคาร์บอนเครดิตได้

2.ด้านการลดขยะ เป้าหมายที่จะลดขยะของเสียสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่เรื่องของพลาสติก แต่ยังรวมถึงขยะอาหาร และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

3.ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมพร้อมผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้อยู่ในหลักสูตรเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง