สันติธาร เสถียรไทย 4 ฟันเฟือง “เศรษฐกิจสีเขียว”

สันติธาร เสถียรไทย
สันติธาร เสถียรไทย

เมื่อกระแสโลกกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาเล่าถึง 4 ฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถต้านทานกระแสโลกนี้ได้

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กล่าวในงานเสวนา “Thailand Green Future” ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ว่า ทั่วโลกเทรนด์การผลักดันสู่เศรษฐกิจสีเขียวเป็นเรื่องที่มาแรงจริง ๆ และไปได้อย่างยั่งยืน เหตุผลมาจาก 4 ฟันเฟืองสำคัญที่สอดประสานกัน อันแรกสำคัญที่สุดคือ Green Capital จากที่กองทุนและนักลงทุนทั่วโลกออกมาประกาศว่า จะลงทุนเฉพาะบริษัทที่มี ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งกองทุนทั่วโลกที่มีมูลค่ารวมกว่า 121 ล้านล้านดอลลาร์ ปฏิญญาว่าจะลงทุนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งบริษัทที่ไม่มีการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือไม่มีการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน กองทุนเหล่านี้จะเข้ามาลงทุนไม่ได้

ดังนั้น หากบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไม่ใส่ใจในด้านความยั่งยืน จะทำให้หุ้นมีความเสี่ยง ถือเป็นแรงกดดันต่อบริษัทใหญ่ในการปรับตัวทันที ซึ่งทำให้จะกระทบถึงซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่เหล่านี้ ต้องปรับเปลี่ยนเป็นสีเขียวทั้งหมด หมายถึงบริษัทเอสเอ็มอีทั้งหลายก็ต้องปรับตัวด้วย ซึ่งทำให้ Green Capital จะมีผลกระทบและมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำแบบฉาบฉวยไม่ได้

2.Green Consumer มีการศึกษาพบว่าทั่วโลกผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้น 12% หากสินค้าหรือแบรนด์นั้นใส่ใจด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ดี 12% คือค่าเฉลี่ย ซึ่งยังมีกลุ่มคนที่ยอมจ่ายและไม่ยอมจ่าย แต่ปัญหาความยากในการทำธุรกิจ คือบริษัทที่ผลิตสินค้าจะหาตลาดคนที่ยอมจ่ายเพื่อสีเขียวให้เจอได้อย่างไร

ฟันเฟืองที่ 3 คือ Technology จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมีราคาถูกลงมาก ๆ สตอเรจกักเก็บพลังงานถูกลงมาก ๆ ก็ทำให้สินค้าที่ต้องใช้พลังงานสะอาดทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และเมื่อรถอีวีราคาถูกลงก็ทำให้การใช้อีวีมากขึ้น ก็ทำให้มีคนใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ก็กลายเป็นวงจรบวก หรือ Virtuous Cycle ไปเรื่อย ๆ

Advertisment

และ 4. Green Policy นโยบายภาครัฐหรือกฎหมาย ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นตัวหลัก เพราะหากสถานการณ์มีความผันผวน เช่น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อ Green Consumer ทำให้ไม่ยอมจ่ายแพง หรือตลาดหุ้นผันผวน ผลประกอบการไม่ดี นักลงทุนที่เคยลงทุนธุรกิจสีเขียวก็อาจจะเปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นที่ร้อนแรงแทนได้

แต่สิ่งที่จะทำให้ยั่งยืนได้คือ Green Policy คือนโยบายภาครัฐ เช่น สหภาพยุโรปมีการบังคับใช้กฎหมาย CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่มีการเก็บภาษีตามปริมาณ Carbon Footprint ของสินค้าต่าง ๆ จะส่งผลต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นมี 6 กลุ่มสินค้า

โดยไทยจะได้รับผลกระทบหนักในกลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ต่อไปจะขยายไปสู่เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ซึ่งเกณฑ์จะกว้างมากขึ้น และไม่ใช่แค่ยุโรป อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) เป็นนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจที่ลงทุนพลังงานสะอาด กรีนเทคโนโลยีทั้งหลายให้มาลงทุนที่สหรัฐอเมริกา

“ภาพที่เห็นคือ เรื่อง Green Policy ไม่ใช่แค่นโยบายสีเขียวแต่คือนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ นโยบายการพัฒนาประเทศ สินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะถูกกำแพงภาษีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนธุรกิจสีเขียวก็จะได้อานิสงส์และสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ”

Advertisment

ดร.สันติธารฉายภาพว่า 4 ฟันเฟืองนี้ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนแบบที่ถูกบังคับให้เปลี่ยน ทำให้ไม่สามารถทำบาปได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ดีสำหรับบริษัทขนาดเล็กก็เป็นจุดที่ยากเพราะมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือจุดเริ่มต้องทำให้ Green กับ Growth ไปด้วยกัน ไม่ใช่ต้องเลือกว่า Green หรือ Growth

แต่เป็นการใช้ Green for Growth ตัวอย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยว ก่อนโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 40 ล้านคน แต่อันดับการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอยู่รั้งท้าย อันดับ 130 และนักท่องเที่ยว 80% กระจุกตัวอยู่ใน 5 จังหวัด

ขณะที่ผลสำรวจของบุ๊กกิ้งดอทคอม 75% ของนักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ดังนั้นหากเราสามารถพัฒนาโปรดักต์ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง โลคอลโปรดักต์ให้ถูกใจนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ จะสามารถทำให้ประเทศไทยได้ 3 อย่าง คือกระจายแหล่งท่องเที่ยว กระจายรายได้ และสร้าง Growth Engine ใหม่ เป็นตลาดใหม่ของการท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ ดร.สันติธาร กล่าวถึงการเริ่มต้นและขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จว่า จะต้องมีองค์ประกอบ 3M คือ 1.Mindset “กรอบความคิด” อย่าไปมองว่าเป็น “ต้นทุน” และไม่ใช่การทำทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วแค่ไปเติมให้ดูเขียว ๆ ขึ้น แต่จะต้องไปดูเรื่อง Green for Growth กลับไปดูกลยุทธ์โดยรวมของธุรกิจ ว่าเทรนด์นี้จะสร้างโอกาสอย่างไร เพื่อสร้างการเติบโตใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเป็นแนวคิดเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ

2.Management Structure “โครงสร้างการจัดการ” ต้องถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เหมือนติดกระดุมเม็ดแรก ระดับซีอีโอต้องดูแลเอง หรือมีตำแหน่ง CSO และเรื่อง Sustainbility ต้องอยู่ในทุกที่ทุกส่วนขององค์กร เพราะต้องทำงานประสานกันทุกส่วน ไม่ใช่การตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาทำงานแยกจากส่วนอื่น แบบนั้นไม่รอด และ 3.Measurement “วัดผล” สำคัญมาก เพราะถ้าเรากำหนดเรื่องวัดผลผิดก็ไปผิดทาง เพราะฉะนั้นต้องดูว่าวัดอะไร เช่น ระดับธุรกิจ ถ้าวัดว่าองค์กรทำงาน Green ไปกี่ครั้งหรือเปล่า ถ้าวัดแบบนี้ก็จะไปผิดทางแน่นอน

และระดับประเทศไทย 3M ก็ใช้ได้เหมือนกัน สามารถบอกได้มั้ยประเทศไทยได้คะแนนด้านกรีนเท่าไหร่ ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร ถ้าบอกได้ ประเทศไทยก็จะไปถูกทาง