ยุคทองตำแหน่ง CSO มือบริหารความยั่งยืนสู่สากล

จากผลสำรวจของ KPMG ประเทศไทย หัวข้อ “Addressing the Strategy Execution Gap in Sustainability Report” ระบุว่า 90% ของผู้นำธุรกิจจะเพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืนมากขึ้น ยิ่งเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดย 3 ประเด็นสูงสุดที่ผู้นำต้องการลงทุนได้แก่ หนึ่ง บุคลากรสำหรับรับผิดชอบงานด้าน ESG สอง ระบบซอฟต์แวร์ และสาม การพัฒนาทักษะ และความรู้แก่บุคลากร

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังระบุอีกว่า “งานที่ปรึกษา” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน” กำลังเป็นที่ต้องการสูงมาก ทั้งในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ และบริษัททั่วไป ขณะเดียวกัน เมื่อดูข้อมูลจาก “ERM Sustainability Institute” ระบุชัดเจนว่าการประเมินคุณค่าการพัฒนาทุนมนุษย์ และการบูรณาการแนวคิด ESG ในการทำธุรกิจ ถือเป็น 2 ใน 10 เทรนด์ด้านความยั่งยืนของโลกสำหรับปี 2024

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่หน่วยงานทางด้านความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และองค์กรภายนอก จึงมีการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งตำแหน่งการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยเฉพาะตำแหน่ง “CSO” หรือ “Chief Sustainability Officer” เพราะคงมองเห็นแล้วว่าการดำเนินธุรกิจบนแนวทางดังกล่าว น่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนในที่สุด

“นายอนันตชัย ยูรประถม” ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเดินทางมาสู่ยุคการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวัตถุประสงค์ ดังนั้น การดำเนินงานจึงเป็นลักษณะของกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับพันธสัญญาด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งเป็นงานในลักษณะบูรณาการ (Integration) และสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

“ฉะนั้น ตำแหน่ง Chief Sustainability Officer จึงเปรียบเหมือนคอนดักเตอร์ของวงออร์เคสตรา มีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้องค์กรมีการบูรณาการแนวคิดด้านความยั่งยืนลงไปสู่การปฏิบัติจริง และเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง ปัจจุบันเราเริ่มมองเห็นแนวโน้มการบูรณาการแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าสู่กลยุทธ์ และแนวปฏิบัติทางธุรกิจมากขึ้น และจากการที่มีหลายบริษัทติดต่อเข้ามาให้สถาบันไปเป็นที่ปรึกษา คงพอเป็นคำตอบกลาย ๆ ว่าตำแหน่ง CSO มีความสำคัญมากขึ้นจริง ๆ”

Advertisment

ขณะที่ “นางสาวณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา” ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอด 3-4 ปีผ่านมา ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนเริ่มได้รับความสนใจ และเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ มากขึ้น ยิ่งในช่วง 1-2 ปีหลังเริ่มเข้มข้นขึ้น และเป็นที่ต้องการสูงมาก อาจเป็นเพราะเทรนด์ความยั่งยืนของโลกกำลังได้รับความสนใจ แต่กลับมีผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านนี้ค่อนข้างน้อย

“อาจเป็นเพราะโครงสร้างแผนกความยั่งยืนของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน บางองค์กรมีโครงสร้างหน่วยงานด้านความยั่งยืนชัดเจน ผู้บริหารก็จะสรรหาบุคลากรมาประจำแผนกนี้โดยเฉพาะ แต่บางองค์กรยังเป็นงานที่รวมอยู่ในหน่วยงานอื่น ๆ จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญมาก แต่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าองค์กรเหล่านั้นมีมุมมองเกี่ยวกับงานด้านความยั่งยืนอย่างไร และอยู่ระดับใดด้วย”

ดังนั้น เมื่อถามว่าขอบเขตของการบริหารงานของ CSO ต้องเชื่อมโยงกับส่วนไหนบ้าง ? และจำเป็นไหมที่จะต้องบูรณาการกับบริษัทลูก หรือพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อนำองค์กรมุ่งสู่ SDGs ซึ่งเรื่องนี้ “ณัฐณรินทร์” บอกว่าการทำงานด้านความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการบูรณาการแนวคิด และประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับแต่ละงานเข้าไปในแผนการทำงาน และแผนธุรกิจ ส่วนจะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วยหรือไม่นั้น อาจต้องดูลักษณะของธุรกิจ และประเภทของบริษัท รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน

“หากเป็นบริษัทที่เน้นการทำธุรกิจในประเทศเป็นส่วนใหญ่ คู่ค้า และลูกค้าเป็นบริษัทในประเทศที่ไม่มีขอบเขตการดำเนินงานกับต่างประเทศ อาจเชื่อมโยงกับต่างประเทศน้อย แต่หากเป็นบริษัทสาขา บริษัทในเครือ หรือมีการค้าขายกับต่างประเทศ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพราะมีความจำเป็นจะต้องคำนึงถึงบริบทด้านความยั่งยืนของประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

Advertisment

ทั้งนั้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสทางธุรกิจ ส่วนการตอบสนองต่อประเด็น SDGs เรื่องนี้ถือเป็นพื้นฐานสำหรับทุกองค์กร และเชื่อว่าทุกองค์กรมีการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs อยู่แล้ว เพียงแต่อาจยังไม่ทราบเท่านั้นเอง”

ถึงตรงนี้ จึงสอบถาม “ทัชกร กุลจันทร์” Country Director บริษัท Job Expert ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนในตำแหน่งด้านความยั่งยืน และตำแหน่ง CSO โดยเขาบอกว่าปัจจุบันความต้องการของลูกค้าเพื่อสรรหาบุคลากรในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน ESG เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะตำแหน่ง CSO ประเทศที่มีความต้องการ และสรรหาบุคลากรมากที่สุดคือสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยตอนนี้เริ่มมีการสรรหาเพิ่มขึ้น เพราะหลายบริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต

“โดยฐานเงินเดือนของตำแหน่ง CSO เริ่มต้นอยู่ที่ 30,000-70,000 บาท ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน และขนาดของบริษัทด้วย เพราะตำแหน่งนี้เป็นที่คาดหวังของผู้บริหารสูง เพราะจะช่วยผลักดันงานด้านความยั่งยืนให้องค์กรนำไปสู่สากล ขณะเดียวกัน ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจดำเนินงานไม่สอดคล้องกับความยั่งยืนขององค์กร รวมไปถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดจากแนวคิด ESG อีกด้วย”

สำหรับ “นางต้องใจ ธนะชานันท์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืน และกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตำแหน่งงานด้านความยั่งยืนเป็นอาชีพที่น่าจับตามอง เพราะหลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับด้านนี้ ไม่เฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น แต่ละบริษัทจะมีชื่อแผนกแตกต่างกัน

โดยหลัก ๆ บทบาทของคนที่ทำงานด้านความยั่งยืนจะไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทเท่านั้น แต่ยังเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาโลก ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังไม่นิ่ง รวมถึงมาตรฐาน กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการปรับตลอดเวลา

“สำหรับไทยเบฟฯเราก่อตั้งแผนกความยั่งยืนอย่างจริงจังขึ้นมาเมื่อปี 2566 คือกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งคนแต่ละกลุ่มธุรกิจเข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะแต่ละสายธุรกิจเขามีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่าถ้าเราจะไปให้สุด ต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญ และสร้างน้อง ๆ ที่เขามีความสนใจโดยเฉพาะเพื่อพัฒนาไปพร้อมกับโลก และมาตรฐานที่เปลี่ยนตลอดเวลา โดยคนที่จะเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้ ทักษะที่ต้องมีอันดับแรกคือต้องเข้าใจเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ต้องเข้าใจถึงพื้นฐานวิทยาศาสตร์ รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย”

จึงนับเป็นยุคทองของตำแหน่ง “CSO” มือบริหารความยั่งยืนเพื่อนำองค์กรสู่สากลจริง ๆ