อิมแพ็ค รุกใช้เทคโนโลยี รับเทรนด์ตลาดแรงงานเปลี่ยนเร็ว

IMPACT

อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดกลยุทธ์เชิงรุกรับมือเทรนด์การบริหารบุคคลยุคดิจิทัล เติมเทคโนโลยี อัพสกิล เพิ่มศักยภาพ ปูทางสร้างการเติบโตระยะยาว

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดกลยุทธ์เชิงรุก ดึงเทคโนโลยี พัฒนาระบบใหม่ ๆ เติมทักษะ อัพสกิลพนักงาน พร้อมเฟ้นหาไอเดียใหม่ ปูทางสร้างการเติบโตให้แก่องค์กรระยะยาว ภายใต้แนวคิด M-B-R-C รับเทรนด์ตลาดแรงงานเปลี่ยนเร็ว จากกระแสการนำ AI มาใช้ในงาน HR

นางสาวทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมแนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งจากแนวคิดการนำเทคโนโลยีหรือ AI เข้ามาใช้ เพื่อลดการใช้แรงงาน และพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป

ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล
ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล

“เทคโนโลยีจำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่ เพื่อยกระดับธุรกิจให้ทันสมัยขึ้น แต่ Human Touch ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในการการทำงานในธุรกิจนี้ ดังนั้น จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้คนในองค์กรมีความรู้ความผสมผสานกันทั้ง Digital Knowledge และ People Skill โดยให้ความรู้กับคนทำงานให้มีความรอบรู้ในเครื่องมือสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็พัฒนาด้าน People Skill ควบคู่กันไป และสร้าง Innovative Mindset ให้พนักงานได้ฝึกพัฒนาตัวเองด้วยผ่านโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร”

ที่ผ่านมา อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การจัดการบุคลากรในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับธุรกิจที่มีการพัฒนาตลอด ภายใต้ HR Vision คือ M-B-R-C ได้แก่ M-Modern HR, B-Beyond HR, R-Right Place for Talent, และ C-Chosen Employer เพื่อเป็นแนวทางให้บุคลากรในฝ่ายสามารถทำงานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Advertisment

สำหรับ M-Modern HR การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ยกระดับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้ง่าย สะดวกขึ้น แต่โจทย์ของการนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) อาจต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยต้องบาลานซ์ให้ได้ว่า เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แล้ว จะไม่ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับองค์กรลง รวมถึงยังคงต้องสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ถือเป็นหัวใจของงานบริการ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีมีส่วนช่วยเข้ามาเติมเต็ม ทำให้การทำงานของเอชอาร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งฝ่ายเอชอาร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้มีการพัฒนาระบบ และแอปพลิเคชั่น ขึ้นมาใช้ในงานเอชอาร์เอง โดยทีม HR Tech and HR Data Analytic ซึ่งทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากระบบมาวิเคราะห์และวางแผนงานในการพัฒนาบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของบริษัทและตรงตามแผนมากขึ้น โดยขณะนี้มีระบบ และแอปพลิเคชั่นที่นำมาใช้แล้ว เช่น ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ Learning Hub แอปพลิเคชั่นสมัครงาน IMPACT Keep me ระบบสแกนใบหน้าสำหรับ Check in-Check Out เป็นต้น”

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทำการพัฒนาต่อยอดจากระบบเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการพัฒนาระบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความจำเป็นที่ต้องใช้ของคนในองค์กร อาทิ แผนพัฒนา AI Recruitment & PMS การต่อยอดระบบแอปพลิเคชั่น IMPACT Keep me ให้สมบูรณ์มากขึ้น การพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ IMPACT Learning Hub ที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุม ซึ่งระบบต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมีเป้าหมายจะเป็น Single Point Contact ที่พนักงานสามารถเข้าแอปพลิเคชั่นเดียวแล้วลิงก์ทุกอย่างไว้ที่เดียวกันได้ และมีแผนการนำระบบ AI เข้ามาพัฒนาใช้เป็นเครื่องมือต่าง ๆ ให้พนักงานด้วย

สำหรับแนวคิด B-Beyond HR ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันเอชอาร์ต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่การทำงานในส่วนของ HR แต่ต้องเป็นคู่คิดทางธุรกิจ ที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจและสนับสนุนผู้บริหารขององค์กรผ่านการทำงานของฝ่าย HR และยังต้องเป็นคู่หูกับพนักงาน ในการสร้างความสุข สร้างแรงจูงใจ แก้ปัญหา และพัฒนาพนักงานให้เติบโตในองค์กร ผ่านกิจกรรม หรือโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่พนักงาน (Greater Employee Experience)

Advertisment

ซึ่งนำไปสู่วิสัยทัศน์ ในส่วนของ R-Right Place for Talent เป็นการดึงดูดและรักษา (Attract & Engage) คนที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรและมีโอกาสเติบโตในองค์กรต่อไป เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุด คือ C-Chosen Employer ต้องเป็นองค์กรที่คนทุกคนเลือกอยากทำงานด้วย

นางสาวทมิตา กล่าวด้วยว่า การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน และการสร้างโอกาสให้พนักงานพัฒนาและเติบโต บริษัทดำเนินการทั้งมิติของการเปิดโอกาสให้บุคลากรในองค์กร ได้แสดงศักยภาพของตนเองผ่านโครงการประกวดนวัตกรรม Routine to Innovation (R2i) ที่ส่งเสริมการคิดนอกกรอบ การคิดแก้ปัญหาจากแนวทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาองค์กร ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว และมีหลายโครงการที่ได้นำมาใช้จริง

รวมถึงการดึงทาเลนต์รุ่นใหม่จากภายนอกให้รู้จักเมืองทองธานีผ่านโครงการ “Muangthong Hackathon” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอแนวคิดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เมืองทองธานีผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษา โดยเน้นผลงานที่สามารถแก้ปัญหา และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง

มีนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันรวม 72 ทีม จาก 30 มหาวิทยาลัย ซึ่งประกาศผลไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ทีมชนะเลิศ คือ ทีม Teletubbies” จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงาน CuddleCam : CCTV Security Project โครงการพัฒนานวัตกรรมตรวจจับอุบัติเหตุ การกระทำผิดจราจร และแก้ปัญหารถติดด้วยเทคโนโลยี AI

“แนวทางสร้างความยั่งยืนถือเป็นภาพใหญ่และทิศทางที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ให้ความสำคัญ ในส่วน HR Sustainability มี 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ พนักงาน และนโยบายความยั่งยืนขององค์กร โดยพนักงานต้องทำงานอย่างมีความสุข ปลอดภัยและมีการเติบโต ภายใต้นโยบาย เป็นธรรม ถูกต้อง เท่าเทียม

ขณะเดียวกันก็มีระบบการวางแผนกำลังคนให้การสืบต่อ (Successor Planning) ส่งต่อ (Knowledge Sharing)ทั้งความรู้และตำแหน่ง มีการวางแผนส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องและยั่งยืน ส่วนโครงการที่ทำอยู่และ support เรื่อง Sustainability อย่างชัดเจน คือ โครงกล้า MICE เป็นโครงการฝึกงาน (Internship Program) ที่ช่วยสร้างบุคลากรในธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืน” นางสาวทมิตา กล่าวปิดท้าย