บำเหน็จ บำนาญ ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ได้เท่าไร คำนวณอย่างไร

บำเหน็จ บำนาญ ประกันสังคม

สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 รับบำนาญชราภาพ-บำเหน็จชราภาพ เมื่อเกษียณ หรืออายุ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้บำเหน็จหรือบำนาญ และคำนวณอย่างไร 

ตามที่ได้มีการนำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมจะได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากสำนักงานประกันสังคม รวมถึงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ-บำนาญชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และได้ลาออกจากงาน สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนหรือเสียชีวิตนั้น

อาจยังมีหลายคำถามที่สงสัยต่อเนื่องว่า จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพ และจะคำนวณอย่างไรว่า จะได้รับเงินเท่าไร

“ประชาชาติธุรกิจ” ไขข้อสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้

ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 ส่งเงินสมทบเท่าไร ?

การส่งเงินสมทบประกันสังคม ม.33 และ ม.39 มีรายละเอียดดังนี้

Advertisment

ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) หรือมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน โดยถูกหักจากเงินเดือนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ (สูงสุดหักไม่เกิน 750 บาท) นอกจากนั้น นายจ้างต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันด้วย

เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายแต่ละเดือนเข้ากองทุนของประกันสังคม จะถูกแบ่งการบริหาร 3 ส่วน จากเพดาน 750 บาท/คน/เดือน

1. จำนวน 225 บาท สมทบกองทุนดูแลเรื่องเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน

2. จำนวน 75 บาท สำหรับใช้ประกันการว่างงาน ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถเอาเงินส่วนนี้มาใช้ในระหว่างตกงานหรือรอหางานใหม่ ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน

Advertisment

3. จำนวน 450 บาท เก็บเป็นเงินออมกรณีชราภาพ จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39) หรือบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต

ได้บำเหน็จชราภาพ หรือบำนาญชราภาพ วัดจากอะไร ?

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะการส่งเงินสมทบประกันสังคม

  • ส่งเงินสมทบต่ำกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว
  • ส่งเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

และมีเงื่อนไขสำคัญ คือ

  • ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

ทั้งนี้ การยื่นรับสิทธิกรณีชราภาพผู้ประกันตน ม.33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันตน ม.39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.33 จะใช้ฐานของ ม.33
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.39 จะใช้ฐานของ ม.39
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.33 และ ม.39 ทางประกันสังคมจะเฉลี่ยให้

เงินบำเหน็จชราภาพ มีเงื่อนไข-คำนวณอย่างไร ?

หากส่งเงินสมทบประกันสังคมน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ โดยมี 2 เงื่อนไข

  • กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน (ต่ำกว่า 1 ปี) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
  • กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะมีการประกาศอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ในราชกิจจานุเบกษา โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพล่าสุด อยู่ที่ 2.53% ต่อปีของเงินสมทบสุทธิ (ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567)

วิธีคำนวณ

กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน : เงินสมทบของผู้ประกันตน x จำนวนเดือน (1-11 เดือน) = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ

ตัวอย่าง : ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบได้ 9 เดือน เดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 300 x 9 = 2,700 บาท

กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : เงินสมทบของผู้ประกันตน + เงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ

ทั้งนี้ “ผลประโยชน์ตอบแทน” เงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 คือ เงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนจากการที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินสมทบไปลงทุน โดยแต่ละปีจะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี มีดังนี้

ปี อัตราผลประโยชน์ตอบแทน กรณีบำเหน็จชราภาพ มาตรา 33 และมาตรา 39 (ร้อยละ)
2562 4.52
2563 2.75
2564 2.83
2565 3.46
2566 2.53

ตัวอย่างวิธีคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ-ผลประโยชน์ตอบแทน

ตัวอย่าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 อายุ 55 ปี ส่งเงินสมทบตั้งแต่ปี 2562 และสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างวันที่ 30 กันยายน 2566 คำนวณจากฐานตัวเลขเดือนละ 15,000 บาท ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

ปี จำนวนเงินสมทบจากนายจ้าง จำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย รวม (บาท)
2562 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 10,800
2563 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 10,800
2564 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 10,800
2565 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 450 x 12 เดือน = 5,400 บาท 10,800
2566 450 x 9 เดือน = 4,050 บาท 450 x 9 เดือน = 4,050 บาท 8,100
รวม 25,650 25,650 51,300

 

จากนั้นนำเงินสมทบสะสมในแต่ละปี คำนวณกับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปี ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ปี เงินสมทบ เงินสมทบสะสม x อัตราผลประโยชน์ตอบแทน ผลประโยชน์ตอบแทน
2562 10,800 10,800 x 4.52% 488.16
2563 10,800 (10,800+10,800) x 2.75% 594.00
2564 10,800 (10,800+10,800+10,800) x 2.83% 916.92
2565 10,800 (10,800+10,800+10,800+10,800) x 3.46% 1,494.72
2566 8,100 [(10,800+10,800+10,800+10,800+8,100) x 2.53%] x 9/12 973.42
รวม 4,467.22

หมายเหตุ : 9/12 หมายถึง ผู้ประกันตนนําส่งเงินสมทบมาแค่ 9 เดือน ภายใน 1 ปี

สรุป : ผู้ประกันตนมาตรา 33 เกษียณอายุที่ 55 ปี ทำงานมา 57 เดือน จะได้รับเงิน

เงินสบทบ
ส่วนผู้ประกันตน (บาท)
เงินสบทบ
ส่วนนายจ้าง (บาท)
ผลประโยชน์ตอบแทน (บาท) รวม (บาท)
25,650 25,650 4,467.22 55,767.22

 

เงินบำนาญชราภาพ มีเงื่อนไข-คำนวณอย่างไร ?

หากส่งเงินสมทบประกันสังคม มากกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี

  • กรณีส่งเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน (15 ปี) มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
  • กรณีส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) ได้รับอัตราบำนาญชราภาพ เพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการส่งเงินสมทบทุก 12 เดือน (1 ปี)

ตัวอย่างวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ

สำหรับการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะคำนวณดังนี้

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X 20% = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

ตัวอย่าง : ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายได้ 14,000 บาท คูณ 20% = 14,000 x 20% = เงินบำนาญชราภาพ เดือนละ 2,800 บาท ตลอดชีวิต

ส่วนการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) จะคำนวณดังนี้

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X [20%+(1.5% x จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ กรณีเกิน 15 ปี)] = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต

ตัวอย่าง : ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายได้ 15,000 บาท ส่งเงินสมทบแล้ว 384 เดือน (32 ปี) อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

ระยะเวลาส่งเงินสมทบ อัตราเงินบำนาญชราภาพ
15 ปีแรก (180 เดือน) 20%
17 ปีหลัง (204 เดือน) 1.5 x 17 = 25.5%
รวม 32 ปี 20 + 25.5 = 45.5%

 

คำนวณได้ดังนี้ (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X [20%+(1.5% x จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ กรณีเกิน 15 ปี)] = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

= 15,000 x 45.5% = เงินบำนาญชราภาพ เดือนละ 6,825 บาทตลอดชีวิต

หมายเหตุ : 45.5% มาจากอัตราเงินบำนาญชราภาพ 20% สำหรับ 15 ปีแรก + อัตราเงินบำนาญชราภาพ 17 ปีหลัง เพิ่มขึ้นปีละ 1.5% เท่ากับ 25.5%

ได้เงินชราภาพประกันสังคมเมื่อไหร่ ?

เงินบำเหน็จหรือบำนาญในระบบประกันสังคม โดยผู้ที่ได้รับแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา (ม.33, ม.39, ม.40)

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

กลุ่มที่ 2 ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต

  • ลูก หรือลูกบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • บิดา-มารดาที่มีชีวิตอยู่

กรณีเสียชีวิต

กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน (5 ปี) นับแต่เดือนที่รับบำนาญชราภาพ

  • ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

กรณีผู้ประกันตนถูกงดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตาย

  • หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน

ยื่นขอรับบำเหน็จ-บำนาญชราภาพอย่างไร

เมื่อตรวจสอบและทราบสิทธิที่จะได้รับแล้วสามารถยื่นขอรับบำเหน็จ หรือบำเหน็จชราภาพ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใกล้บ้าน หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา โดยใช้เอกสาร ดังนี้

  • บัตรประชาชนตัวจริง
  • กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส.2-01)
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่จะรับโอนเงิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรก ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ
  • หากผู้ประกันตนมีบัญชีพร้อมเพย์ที่ใช้เลขบัตรประชาชนผูกกับบัญชีออมทรัพย์ สามารถแจ้งขอรับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ไปพร้อมการยื่นคำร้องได้ โดยไม่ต้องใช้สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ ไม่สามารถใช้ได้)

โดยธนาคารที่สามารถใช้เพื่อรับเงินบำเหน็จชราภาพ บำนาญชราภาพ มีดังนี้

    1. พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชนทุกธนาคาร
    2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
    3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
    4. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    6. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    7. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
    8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
    9. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
    10. ธนาคารออมสิน
    11. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ขอรับเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ ได้เงินเมื่อไร ?

สำหรับระยะเวลาการโอนเงินเข้าบัญชี เมื่อสำนักงานประกันสังคมอนุมัติสิทธิ จะโอนเงินเข้าบัญชีภายในเวลาที่กำหนด ดังนี้

  • กรณีบำเหน็จชราภาพ หากได้รับการอนุมัติแล้วเงินจะโอนเข้าบัญชีประมาณ 5-7 วันทำการ ไม่นับรวมวันหยุดราชการ (ไม่รวมระยะเวลาการยื่นเอกสารกับเจ้าหน้าที่)
  • กรณีบำนาญชราภาพ จ่ายเงินเดือนที่ได้รับสิทธิให้กับผู้รับบำนาญชราภาพภายในวันที่ 25 ของเดือนที่ได้รับสิทธิ

ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม