ธุรกิจดูแลผู้สูงวัยบูมปีละ3แสนคน แรงงานขาดหนักเปิดโอกาสไทย-ต่างด้าว

ธุรกิจดูแลผู้สูงวัยบูม รับเทรนด์ประเทศไทยเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ทั้งแห่เปิดเนิร์สซิ่งโฮม ดูแลคนชรารายวัน-รายปี, ผู้บริบาลผู้สูงอายุมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000/เดือน แต่ต้องมีประกาศนียบัตร ฝั่งบริษัทนำเข้าแรงงานบอกคนไทยไม่สนใจ สบโอกาสแรงงานต่างด้าวตบเท้าเข้ามาทำงานแทนทั้งดูแลผู้สูงอายุ-แม่บ้าน

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ผู้สูงอายุปัจจุบันคิดเป็น 1 ใน 5 หรือประมาณ 13 ล้านคน ตรงนี้จึงเป็นโอกาส และความท้าทายของผู้ประกอบธุรกิจจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงธุรกิจ Nursing Home โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุเกือบ 1,000 ราย

อาชีพดูแลผู้สูงอายุไม่ตกงาน

นายแพทย์นพดล นพคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอ็ม เนิร์สซิ่ง แคร์ จำกัด เปิดเผย “ประชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจของเราเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งโรงเรียนการบริบาล เดอะ พาเร้นท์ส โดยสอนผู้บริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพออกไปดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในสถานประกอบการและที่บ้าน

อีกส่วนคือดำเนินธุรกิจสถานส่งเสริมสุขภาพ และบริการดูแลผู้สูงอายุ The Parents Wellness and Rehabilitation ที่ดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟู สุขภาพผู้สูงอายุ ทั้งกลุ่มภาวะพึ่งพิงบางส่วน และกลุ่มภาวะพึ่งพิงถาวร (ติดเตียง) แทนครอบครัว

“ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2567 ในกลุ่มนี้ต้องการคนดูแล 35% แต่ปัญหาคือคนไทยอยากทำงานด้านนี้น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่งานสายนี้น่าสนใจ ไม่ตกงานแน่นอน ทั้งยังมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน

Advertisment

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุล่าสุดกำหนดให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 420 ชั่วโมง จากสถาบันการศึกษา หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐหรือเอกชน โดยจะต้องได้วุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรรับรอง พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

“โดยทางโรงเรียนการบริบาล เดอะ พาเร้นท์ส สอนหลักสูตรเหล่านี้ด้วย แต่มีผู้สนใจเรียนน้อยกว่าดีมานด์ในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะคนที่ทำงานผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ทำมาอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมีข้อกำหนดเรื่องเรียนหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 420 ชั่วโมง ก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับการมาเรียนเพื่อได้วุฒิบัตรรับรองมากนัก

เพราะเขามีอาชีพอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่กฎหมายเองก็เปิดกว้างกับงานสายนี้มาก โดยผู้เรียนจะเป็นเพศหญิง หรือชายก็ได้ ทั้งยังไม่จำกัดสัญชาติด้วย ขอให้สื่อสารภาษาไทยได้ เพราะหลักสูตรสอนเป็นภาษาไทย และลูกค้าเป็นคนไทย จึงอยากให้คนไทยมองอาชีพนี้เป็นทางเลือก เพราะเป็นอาชีพที่ทั่วโลกต้องการ จบแล้วมีงานทำ 100%”

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุกำลังบูม

นางวิภาดา แก้วประเสริฐ เจ้าของกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด เชอรี่เนอสซิ่งโฮม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจของเราเปิดมาตั้งแต่ปี 2562 จึงเห็นความต้องการของตลาดคนดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งงานของเราคือการให้บริการจัดส่งคนดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และโรงพยาบาล โดยเน้นพนักงานคนไทย เพราะง่ายต่อการสื่อสาร

Advertisment

ที่สำคัญ พนักงานของเราผ่านการอบรม และมีใบรับรองทักษะผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย (NA) ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไทยกลุ่มวัยกลางคน เนื่องจากคนวัยนี้สนใจทำงานด้านนี้มากขึ้นอาจเพราะอัตราค่าจ้างมากกว่าแรงงานขั้นต่ำ หรือประมาณ 15,000 บาท เป็นต้นไปมิหนำซ้ำยังมีข้อดีคือค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวันไม่มาก เพราะเราทำสัญญาเป็นรายปี อยู่กินกับลูกค้า พนักงานจึงมีที่พัก อาหารฟรี และไม่ต้องเสียค่าเดินทางด้วย

“ตอนนี้เทรนด์ที่เห็นคือคนสนใจทำธุรกิจจัดหาคนดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งเชอรี่เนอสซิ่งโฮมอยู่ในสมาคมการค้าธุรกิจพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก จึงทำให้เห็นคนเข้าออกธุรกิจนี้พอสมควร หลายคนอยากทำ แต่ไม่ง่าย เพราะผลงานต้องได้มาตรฐาน อีกทั้งพนักงานต้องผ่านเกณฑ์ เพราะผู้สูงอายุหลายคนเดินไม่ได้ ทั้งยังมีอาการเจ็บป่วยด้วย พวกเขาจึงต้องปฐมพยาบาลเป็นด้วย”

คนไทยจ้างต่างด้าวดูแลผู้สูงอายุ

นายสุชิน พึ่งประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และประธานกรรมการบริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ กรุ๊ปเซเว่นเซอร์วิส จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลาย ๆ อาชีพในประเทศไทยไม่สามารถเติมเต็มด้วยอุปทานของแรงงานไทยได้ทั้งหมด

ดังนั้น บทบาทของการย้ายถิ่นฐานแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาที่คนไทยไม่สามารถเติมเต็มได้ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ

“แม้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจะไม่ขาดแคลน แต่งานบางสายก็หาคนยาก เช่น งานแม่บ้าน หรืองานดูแลผู้สูงอายุ ยิ่งเฉพาะเมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จึงทำให้มีคนติดต่อสอบถามหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถพึ่งพาคนในครอบครัวเป็นหลักเหมือนในอดีตได้ หลายครอบครัวจึงอยากได้แรงงานต่างด้าวไปดูแลผู้สูงอายุ ที่อาจพ่วงตำแหน่งแม่บ้านด้วย แต่หลาย ๆ คนที่ติดต่อเข้ามา เมื่อเห็นขั้นตอนการนำเข้า และต้องคอยต่อเอกสารอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวก็ถอดใจ จึงหันไปเลือกบริการรูปแบบอื่นแทน”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า จากรายงานของสํานักบริหารแรงงานต่างด้าวของกรมการจัดหางาน เดือนเมษายน 2567 ระบุว่า แรงงานต่างด้าวมาตรา 59 (ประเภทนําเข้าตาม MOU) และมาตรา 63/1 (ชนกลุ่มน้อย) ทำอาชีพในลักษณะลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลราว 20,000 คน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้บางคนรับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด