ถอดมุมคิด HR Tech เรียนรู้ข้อดีจาก AI เพื่อพัฒนาพนักงาน

สุนทร เด่นธรรม-วริศ ชนาเทพาพร-สุดคนึง ขัมภรัตน์-เอกฉัตร อัศวรุจิกุล-พนาสิทธิ์ วงษ์มิตรแท้
สุนทร เด่นธรรม-วริศ ชนาเทพาพร-สุดคนึง ขัมภรัตน์-เอกฉัตร อัศวรุจิกุล-พนาสิทธิ์ วงษ์มิตรแท้

ภาคธุรกิจต่าง ๆ ล้วนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลากหลายวิธีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และลดต้นทุน ทั้งนั้นเพราะด้วยความก้าวหน้าของ AI ที่กำลังกลายเป็นทรัพยากรอันมีค่าสำหรับบริษัทต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจดีขึ้นว่า ธุรกิจจะใช้เครื่องมือ AI และรักษาคนให้อยู่กับองค์กรพร้อมกันได้อย่างไร สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จึงจัดเสวนา PMAT Exclusive Talk โดยมี 4 บริษัทด้านเทคโนโลยีเอชอาร์ มาร่วมฉายภาพมุมคิด AI กับการพัฒนาคน ได้แก่ JOBTOPGUN, Humanica, Skilllane Education และ Darwinbox

อย่าไปเชื่อ AI 100%

“วริศ ชนาเทพาพร” Executive Vice President บริษัท ซูเปอร์ เรซูเม่ จำกัด ผู้ดูแลแพลตฟอร์ม JOBTOPGUN.com กล่าวว่า ตลาดหางานเริ่มเคลื่อนไปสู่การเน้นทักษะอย่างชัดเจน เราอยู่ในยุคที่การแข่งขันสูง ทุกบริษัทมีเป้าหมายหลักในการหาบุคลากรที่เป็น Top Talent

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลวิจัยของ Harvard Business Review ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนส่วนใหญ่ได้งานจากโพสต์รับสมัครงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถรอคนมาสมัครงานได้อีกต่อไป แต่ต้องใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการดึงดูด Top Talent เข้ามาในองค์กร

“AI สามารถช่วยให้องค์กรจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาล เพื่อวิเคราะห์และคัดกรองผู้สมัครอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง และปรับปรุงคุณภาพของการคัดเลือกบุคลากร อย่างไรก็ตาม AI ก็มีมุมมืดที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

โดย AI เปรียบเสมือนกล่องดำที่ยังขาดความโปร่งใสในการทำงาน และวิธีการตัดสินใจภายในระบบ เมื่อเทียบกับอดีตที่เราใช้ Google ในการค้นหาข้อมูล เราสามารถเข้าถึงแหล่งอ้างอิง และคัดกรองความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ แต่กับ AI กระบวนการดังกล่าวไม่ชัดเจน และยากต่อการตรวจสอบ”

Advertisment

ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายองค์กรต่าง ๆ จึงต้องมีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) และความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) ควบคู่ไปกับการตัดสินใจ และอยากย้ำว่า อย่าไปเชื่อ AI 100% การใช้ AI อย่างมีสติ และการยอมรับว่ามีข้อจำกัด เป็นส่วนสำคัญในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิผล

ทำงานที่บ้านหรือออฟฟิศดี ?

“สุนทร เด่นธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหลายองค์กรเกี่ยวกับแนวทางการทำงานที่เหมาะสม ระหว่างการทำงานจากที่บ้าน กับการทำงานที่ออฟฟิศ โดยมีความท้าทายหลายประการ เช่น การสร้าง Bonding และ Teamwork แม้การสร้างความสามัคคีภายในองค์กรจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

แต่บางครั้งอาจทำได้ยาก หากผ่านการทำงานระยะไกล เพราะการมีปฏิสัมพันธ์หน้าต่อหน้าสามารถช่วยส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่าความรั่วไหลของวัฒนธรรมองค์กร การทำงานจากที่บ้านอาจทำให้เกิดการคลายตัวของนโยบาย และวัฒนธรรมขององค์กร

“แม้จะทำให้เกิดความยากลำบากในการควบคุม และรักษามาตรฐานวินัยภายในองค์กร แต่การถกเถียงเกี่ยวกับระดับของความยืดหยุ่น การหาจุดสมดุลระหว่างความยืดหยุ่นในการทำงานกับความจำเป็นในการรักษาความเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงก็เป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ”

Advertisment

นอกจากนั้น การประเมินผลิตภาพการทำงานในยุคที่โครงสร้างของคน และสถานที่ทำงานมีการเปลี่ยนแปลงไป องค์กรควรใช้แนวทางประเมินผลด้วย Productivity มากกว่าการใช้ Attendance เพื่อจัดการประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังขยายตัวในที่ทำงานสมัยใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หลายองค์กรไทยอาจยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก

ฉะนั้น องค์กรต้องปรับตัวให้มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว จนทำให้พนักงานปรับปรุง และพัฒนาทันท่วงที แทนที่จะรอการประเมินผลประจำปีที่อาจทำให้เสียโอกาสในการปรับปรุง ด้วยการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

เรียนรู้ข้อดีจาก AI

“เอกฉัตร อัศวรุจิกุล” COO and Cofounder บริษัท สกิลเลน เอดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า การมุ่งเน้นให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) เป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการตอบสนองต่อความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ และเทคโนโลยีปัจจุบัน

เพราะการสร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวมองค์ความรู้ทุกอย่างของบริษัทให้พนักงานสามารถเข้าถึง และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง และปรับปรุงทักษะอย่างต่อเนื่อง

สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีความรู้ความสามารถที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันในสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งอีกด้วย บทบาทของ AI ในการพัฒนาและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในองค์กรผ่านการใช้ Adaptive Learning จึงมีลักษณะการทำงาน และประโยชน์หลัก ดังนี้

หนึ่ง สามารถจัดเก็บ และรวบรวมความรู้ที่สำคัญ และจำเป็นต่อการทำงานในองค์กร เช่น มาตรฐานการทำงาน, ความรู้ทางเทคนิค และข้อมูลเชิงลึกที่ต้องใช้ในการตัดสินใจ

สอง สามารถติดตาม และเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของพนักงาน ระบบนี้จะช่วยเก็บข้อมูลประวัติการเรียนรู้ของพนักงานแต่ละคน วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ และพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา

สาม ระบุความสามารถที่ยังขาด AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากการเรียนรู้ และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพื่อระบุความสามารถหรือทักษะที่ยังขาดและต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม

สี่ แนะนำแผนการเรียนรู้ที่เป็นรายบุคคลตามความต้องการ และข้อบกพร่องที่ระบุได้ เนื่องจากระบบสามารถสร้าง Learning Journey และ Action Plan รายเดือนที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้พนักงานแต่ละคนพัฒนาทักษะตามที่ต้องการได้

นำ AI เสริมศักยภาพ HR

“พนาสิทธิ์ วงษ์มิตรแท้” Country Head-Client Advisory & Solution ดาร์วินบ็อกซ์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การใช้ AI และ Machine Learning ในระบบ HR ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการทรัพยากรมนุษย์จากการเป็นการตัดสินใจที่พึ่งพาข้อมูลพื้นฐาน (Condition Based) เป็นระบบที่มีความสามารถในการทำนาย, ป้องกัน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น การนำ AI มาใช้ในงาน HR จึงเป็นการขยายความสามารถของทีมทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถทำงานได้มากขึ้น และลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะการทำนาย และการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร ดังนี้

หนึ่ง ทำนาย และป้องกันการลาออก : AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมกลุ่มที่มีแนวโน้มจะลาออกสูง องค์กรสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนรักษาพนักงานที่มีคุณค่า และพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนที่เหมาะสม

สอง พัฒนาแผนการรักษาพนักงาน : ด้วยข้อมูลจาก AI เอชอาร์สามารถกำหนดแผนการดำเนินการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อรักษาพนักงานที่มีศักยภาพ และสำคัญต่อองค์กร เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน การเสนอโอกาสในการพัฒนาอาชีพ หรือการปรับปรุงแพ็กเกจสวัสดิการ

สาม สนับสนุนการตัดสินใจของ HR : AI สามารถเสนอข้อมูลที่มีความซับซ้อน และลึกซึ้ง ซึ่งมนุษย์อาจใช้เวลานานหรือพลาดได้ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่เร็วขึ้น และมีข้อมูลสนับสนุนที่ดีกว่า

“ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ระบบเอชอาร์สามารถช่วยองค์กรในการเข้าใจ และจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม AI เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การจัดการ ไม่ใช่สิ่งทดแทนการตัดสินใจทางมนุษย์โดยสิ้นเชิง ดังนั้น เอชอาร์ต้องพิจารณาถึงประเด็นทางจริยธรรมอย่างละเอียด เพราะการทำงานของ AI อาศัยข้อมูล และสถิติที่มีอยู่ ซึ่งสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ขาดคุณสมบัติมนุษย์สำคัญ เช่น ความเข้าอกเข้าใจ และจริยธรรม”

PMAT ยกระดับ SMART HR

“สุดคนึง ขัมภรัตน์” นายกสมาคม PMAT กล่าวว่า แนวคิดของ PMAT ในการยกระดับ HR สู่การเป็น “SMART HR” คือ เอชอาร์ “ทำน้อย” แต่ “ได้มาก” สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแวดวงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงานประจำ

“อีกไม่นาน เราจะจัดงาน Thailand HR Tech 2024 : The Digital & AI Landscape of Leadership, Sustainability and Wellbeing โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ทำงานในแวดวงเอชอาร์ และผู้ที่สนใจมาอัพเดทความรู้ และเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้การทำงานการจัดการคนและพัฒนาคน

“เนื่องจาก AI จะมาช่วยงานเอชอาร์ โดยจะโฟกัสไปที่งานพัฒนา และการรักษาพนักงานที่มีคุณค่าให้อยู่กับองค์กรต่อไป จึงน่าจะส่งผลให้เอชอาร์มีส่วนร่วมมากขึ้นในการวางกลยุทธ์ และการสนับสนุนการตัดสินใจในระดับสูง”