“ฟาสต์แฟชั่น” ปล่อยคาร์บอนยิ่งกว่า การบินและขนส่งทางเรือรวมกัน

fast fashion
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อุตสาหกรรมแฟชั่น (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วนที่สูง มากกว่าหลาย ๆ อุตสาหกรรม และอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในการทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการใช้พลังงานน้ำ และสารเคมีอย่างมาก รวมถึงมีการสร้างขยะ และการปนเปื้อนของเส้นใยไมโครไฟเบอร์เข้าสู่สิ่งแวดล้อมระหว่างการซักล้าง

นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอมีห่วงโซ่อุปทาน ที่ยาวและซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้แปรรูปเส้นใยดิบ เส้นด้ายและผ้า ผู้ทอผ้า ผู้ย้อมผ้า และผู้ผลิตรวมไปถึงผู้จำหน่ายสินค้า

โดยเฉพาะเทรนด์ของอุตสาหกรรม “ฟาสต์แฟชั่น” ที่มาเร็วไปเร็ว ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นต้นตอของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น

รอยเท้าทางนิเวศของอุตสาหกรรมแฟชั่นมาจากไหนบ้าง

ด้วยห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและซับซ้อนจึงไม่น่าแปลกใจ ที่โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ไม่รวมรองเท้า) มีการปล่อยคาร์บอนสูงประมาณ 1,700 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี หรือมีสัดส่วนประมาณ 6-8% ของการปล่อย
คาร์บอนทั่วโลก (UNFCCC, 2018) ซึ่งมากกว่าการปล่อยจากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกัน (2-3%)

Advertisment

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2020 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีอัตราการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 4% ซึ่งยังคงสูงกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือที่ 2%

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปรียบเทียบต่าง ๆ พบว่าการปล่อยคาร์บอน และมลพิษส่วนใหญ่มาจากกระบวนการย้อมและการตกแต่ง ตามด้วยการเตรียมเส้นด้าย การผลิตเส้นใย และการผลิตผ้า ตามลำดับ โดยยังไม่รวมถึงการขนส่ง แต่คาดการณ์ว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่ไม่ถึง 5%

ขณะที่การคำนวณการปล่อยคาร์บอน สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นค่อนข้างยากเพราะยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลมากนัก แต่ประเทศผู้ผลิตสิ่งทอหลัก อย่างจีน อินเดีย และบังกลาเทศ ที่ยังคงพึ่งพาพลังงานถ่านหิน

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้พลังงาน ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศจีน

Advertisment

ขณะที่ประเทศบังกลาเทศ อุตสาหกรรมนี้ทำรายได้หลักจากการส่งออกประมาณ 81% ของรายได้ประเทศ มีการใช้พลังงาน 27% และประเทศตุรกี อุตสาหกรรมนี้มีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากเหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์ โดยที่อุตสาหกรรมแฟชั่นมีการใช้พลังงานหมุนเวียนน้อยกว่า 2%

นอกจากนี้ การย่อยสลายของขยะสิ่งทอในสถานที่ฝังกลบหรือการเผาไหม้ต่าง ๆ ทำให้เกิดการปล่อยสารเคมีอันตรายและก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม

ขณะที่มีความเชื่อที่ว่าเสื้อผ้าจากที่มาจากเส้นใยสังเคราะห์ทำร้ายธรรมชาติมากกว่า

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเสื้อ 1 ตัวที่มาจากฝ้ายกลับปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด โดยมาจากกระบวนการผลิตฝ้ายและการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง

แต่ที่น่ากลัวคือแม้ว่า Polyester จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าแต่ย่อยสลายได้ยากโดยใช้เวลาหลายร้อยปีจะจึงหมดไป ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ ทั้งสองทางเลือกจึงเป็นทางเลือกที่น่าลำบากใจสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีประเด็นชวนคิดอีกว่า การผลิตเสื้อใหม่ 1 ตัว มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการขับรถเบนซินใน 1 วัน (อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการขับรถ 20 กิโลเมตร = 1.92 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)

จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันตลาดเสื้อผ้ามือสองได้รับความนิยมและเติบโตขึ้น โดย ThredUp คาดการณ์ว่า ธุรกิจของเสื้อผ้ามือสองของโลกจะเติบโตสูงถึง 3.5 แสนพันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027

ขณะที่ความกังวลอาจคลี่คลายลงได้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีการทำรีไซเคิล ประกอบกับการผลิตฝ้ายแบบออร์แกนิก ทำให้ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเส้นใยแบบอื่น ๆ และย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน

อย่างไรก็ดี ในสหภาพยุโรปพบว่า มีเพียงแค่ 1% ของสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งเป็นหนทางอีกยาวไกลที่ต้องได้รับการสนับสนุน

ทั้งนี้ พบว่า ทั่วโลกจะมีเสื้อผ้าถูกผลิตขึ้นมา 1 แสนล้านชิ้นทุกปี และมีถึง 92 ล้านตันไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบขยะ ส่วนหนึ่งมาจากการเจริญเติบโตของ Fast Fashion ซึ่งเป็นการผลิตเสื้อผ้าที่ราคาถูก คุณภาพต่ำและออกแบบให้ตามสมัยเพื่อให้สามารถซื้อได้บ่อย ซึ่งยิ่งทำให้เกิดการสูญเปล่าของทรัพยากรมหาศาล ส่งผลให้เกิดขยะจากสิ่งทอที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเสื้อผ้าถูกทิ้งอย่างรวดเร็ว

โดยพบว่า ตั้งแต่ปี 2000 การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และยังไม่มีสัญญาณของการลดลง และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ปริมาณขยะจาก Fast Fashion คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 134 ล้านตันต่อปีภายในสิ้นทศวรรษนี้

หนึ่งในประเทศที่กำลังแก้ปัญหาขยะสินค้าแฟชั่นคือ “ฝรั่งเศส” ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2024 นี้ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรม Fast Fashion โดยระบุว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเก็บค่าปรับกับผู้ผลิตฐานทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนเงิน 5 ยูโรต่อเสื้อผ้า 1 ชิ้น และอาจปรับเพิ่มเป็น 10 ยูโร ภายในปี 2030 โดยไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะยังห้ามการโฆษณาบนสื่อทุกประเภทด้วย

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการส่งออกมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และอยู่ใน 20 อันดับแรก ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประมาณ 2,800 ตันต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจะมีการปล่อยคาร์บอน 4-8% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับเกณฑ์เฉลี่ยของโลก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดของข้อมูลต่าง ๆ มิใช่เพียงของอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น จึงมองว่าควรเริ่มต้นจากการจัดทำฐานข้อมูลโดยใช้ระบบ ISSB เพื่อจัดทำ Carbon Accounting ที่เป็นมาตรฐานตามแนวทางของอุตสาหกรรมอื่น ๆ แล้วจึงเริ่มดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่

– การใช้มาตรการส่งเสริม 3Rs (Reduce Reuse Recycle) และเศรษฐกิจแบบ BCG โดยในช่วงเริ่มต้นควรให้เงินสนับสนุนหรือลดภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงการกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมในอนาคต

– การใช้กลไกภาษีเพื่อลดพฤติกรรม โดยอาจให้แนวทางเดียวกับประเทศฝรั่งเศส เพื่อจัดการกับธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการเก็บค่าปรับ 20-50 บาทต่อชิ้น และอาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมในอนาคต

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงมาตรการจากภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชนและผู้บริโภคต้องตระหนักรู้เพื่อเตรียมรับมือกับ Fast Fashion และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนต่อไปด้วยเช่นกัน