สถาบันการสร้างชาติฯ จัดประชุม ICPDN 2024 

สถาบันการสร้างชาติฯ จัดประชุม ICPDN 2024 

สถาบันการสร้างชาติฯ จัดประชุม ICPDN 2024 ระดมผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลกถกเรื่อง “สันติภาพในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ”

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (Nation-Building Institute International (NBII)) โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน) นักวิชาการอาวุโส มหาวิยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ  ร่วมกับองค์กรพันธมิตรระดับโลก จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสันติภาพ การพัฒนา และการสร้างชาติ 2567 (TheInternational Conference on Peace, Development and Nation-Building (ICPDN) 2024) ในหัวข้อ “สันติภาพในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ” (Peace in the World of Disparity)

โดยการประชุม ICPDN 2024 ได้รับเกียรติจากรัฐบาล มีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาเปิดการประชุม โดยมีผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ร่วมกล่าวปาฐกถาด้วย  อาทิ สตีฟ คิลลิลี่ ประธานสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ, คุณตะวักกัล กัรมาน ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำ พ.ศ. 2554

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Peace in the World of Disparity” ว่า สันติภาพทุกมิติมีความเสื่อมถอยลงทั้ง 4 ระบอบชีวิตไม่ว่าจะเป็นสันติภาพในตัวมนุษย์ที่ถดถอยลง สะท้อนผ่านจำนวนผู้ป่วยทางสุขภาพใจและจิต สันติภาพในชุมชนก็ถดถอยลง สังเกตได้จากความขัดแย้งและความรุนแรงได้ขยายตัวไปหลายประเทศมากขึ้น เช่นเดียวกันกับสันติภาพทางธรรมชาติที่ยังเป็นเรื่องท้าทายในการแก้ปัญหา ความถดถอยได้ปรากฏให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลก รวมถึงความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันสันติภาพในระบอบธรรมะได้เสื่อมถอยลงไม่ต่างจากระบอบอื่น การแสวงหาสัจธรรมความจริงในโลกยุคปัจจุบันลดลง สะท้อนผ่านการให้ความสำคัญหรือพึ่งพาทางศาสนาลดลง

Advertisment

ดร แดน วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้สันติสภาพเสื่อมถอยลงนั้นมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยหลัก คือ ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นหลังวิกฤตการณ์โควิด19 ซึ่งความเหลื่อมล้ำมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความเหลื่อมล้ำจากธรรมชาติกับการกระทำของมนุษย์ หรือความเหลื่อมล้ำในปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสันติภาพในแง่มุมที่แตกต่างกัน เช่น การทำลายความไว้วางใจ การทำให้สังคมแตกแยก ไม่ปลอดภัย เกิดความตึงเครียดในสังคม ระบบเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงความขัดแย้งและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอแนะเพื่อสร้างสันติสภาพท่ามกลางโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ ดร แดนกล่าวว่า “โลกนี้ควรเป็นโลกแห่งความร่วมมือ แม้มีการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องแข่งขันกันแบบร่วมมือกัน และไม่เพียงร่วมมือกันในวงแคบ แต่ควรร่วมมือแบบข้ามขอบเขตทั้งในเชิงประเด็น พื้นที่ และกลุ่มคน ผมมองว่า คนตัวใหญ่โต หรือคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีกว่า ควรช่วยเหลือคนตัวเล็กน้อยในสังคมและประเทศ เช่น ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ใหญ่ช่วยเหลือเด็กและเยาวชน คนรวยช่วยเหลือคนจน 

Advertisment

นอกจากนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ได้ เสนอแนะให้สร้างสมดุลวิถีในระดับประเทศและโลก เพื่อลดความไม่เท่าเทียมและป้องกันประเทศให้เกิดความสมดุลจากภายในประเทศ โดยการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้โอกาสคนทุกกลุ่มและไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมือง อีกทั้งสร้างสมดุลทางผลประโยชน์ และกำหนดให้ 5 ภาคี ได้แก่ ภาคีการเมือง ภาคีข้าราชการ ภาคีนักธุรกิจ ภาคีนักวิชาการ และภาคีประชาชน เป็นผู้เล่นหลักในสังคม เฉลี่ยอำนาจ ผลประโยชน์ รวมถึงให้มีที่ยืนในสังคมอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมสร้างสมดุลระหว่างประเทศด้วย เพื่อไม่เกิดการพึ่งพากลุ่มมหาอำนาจเดิมมากเกินไป 

ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำและขอความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิด Distributive World Order เนื่องจากระเบียบโลกตอนนี้เป็น Confrontational World Order คือ การเมืองเป็นแบบต่อสู้กัน เศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมที่ไม่สนใจความเท่าเทียม ส่งผลให้โลกเกิดความเหลื่อมล้ำ ดร. แดนระบุว่า “ผมเสนอว่าทางออกอนาคต โลกต้องสร้าง Distributive World Order ผมเคยเสนอเมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ปี 2018 โดยมีกลไกที่เป็นรูปธรรม เช่น 1) มีสโมสรเศรษฐีใจบุญ ชวนเศรษฐีมาบริจาค 2) สร้างดัชนีรวมสมรรถนะถ้วนหน้า (Universal Basic Competency) เพื่อวัดสมรรถนะทุกคน ทุกเรื่อง วัดหมดทั้งโลก โดยให้ทุกรัฐบาลมากำหนด protocol และทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศร่วมกัน และ 3) ทำ Universal Basic Share Holding โดยเริ่มจากบริษัทของรัฐบาลและขยายออกไปสู่บริษัทเอกชน”

“สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยไม่ลงมือทำอะไร แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเอาชนะที่กระดานความคิดก่อนเริ่มลงมือทำ และเป็นการลงมือทำร่วมกัน มิได้ทำเพียงลำพัง ผมจึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกนี้ให้มีสันติสภาพแท้จริง”

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุมในครั้งนี้ คือการระดมความคิดเห็นและนำเสนอผลงานวิชาการล่าสุดจากนานาชาติ เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในระดับชุมชน ประเทศ และระดับโลกโดยเน้นการทำความเข้าใจระหว่างสันติภาพและความเหลื่อมล้ำของโลก ผ่านการระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้นำจากทุกภาคส่วน  โดยการประชุมนี้จะหารือแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ค้นหากลยุทธ์นวัตกรรมในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม แบ่งปันมุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและบูรณาการ เพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริง  นอกจากนี้การประชุมนี้ยังยืนยันถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการสร้างโลกที่ทุกเสียงได้รับการรับฟัง ทุกชีวิตได้รับการให้คุณค่าและสันติภาพดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้นำ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้สนใจกว่า 2,500 คน ทั้งออนไซต์และออนไลน์ จากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม 

ผู้เข้าร่วมการประชุมยังได้รับฟังข้อมูล ความเห็น และผลการศึกษา ในการประชุมแต่ละช่วงและในการประชุมกลุ่มย่อย จากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากทั่วโลก อาทิ ผศ.ดร. ภาสนันทน์ อัศวรักษ์, นายมันดาร์ อาปเต, คุณวรเกตุ ตั้งสืบกุล, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี, พระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. (หรรษา ธมฺมหาโส),ศ.ดร.โมคบูล มอร์เชด อาหมัด, ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ, ผศ.ชล บุนนาค, นายบาส ฟรานเซน, อเล็กซ์ เรนเดลล์, ดร. ธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์, ดร.เลน ฮาร์ตเซลล์, เอ็ม อับดุส ซาบูร์, ดร.อมาลี แมคคอย, ดร.วิฑูรย์ วิริยะสกุลธรณ์, นายเมลวิน เอิร์ล ดันแคน, ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์   การประชุมครั้งนี้นับเป็นประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมอย่างกว้างขวาง ทั้งประโยชน์ในเชิงวิชาการ การกำหนดนโยบาย การปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กร และการพัฒนาสันติสภาพให้เกิดขึ้นในทุกระดับ