กรมทรัพยากรน้ำเปลี่ยนปลาหมอคางดำเป็นรายได้ทั้งรักษาระบบนิเวศ

กรมทรัพยากรน้ำเปลี่ยนปลาหมอคางดำเป็นรายได้ทั้งรักษาระบบนิเวศ

กรมทรัพยากรน้ำ ขับเคลื่อนแนวทางการเปลี่ยน “ปลาหมอคางดำ”  เป็น “รายได้” พร้อม “รักษาระบบนิเวศ”

กรมทรัพยากรน้ำ มีภารกิจในการกํากับ ควบคุม อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะและพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการรักษาระบบนิเวศแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรายได้  ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของประชาชน เป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนเพื่อช่วยป้องกันบรรเทาอุทกภัย บรรเทาภัยแล้ง ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมถึงด้านประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมทั้งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” (Invasive Alien Species) ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น ที่คุกคามชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม ส่งผลต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ 

“ปลาหมอคางดำ” เป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่พบว่ามีการกระจายตัวในพื้นที่ของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง จำเป็นต้องมีการจัดการที่เหมาะสม รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำได้ขับเคลื่อนโครงการอบรมเชิงปฎิบัติการสร้างการรับรู้ และแนวทางการใช้ประโยชน์จากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive alien species) : ปลาหมอคางดำ ณ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ในการควบคุม ป้องกันการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น นำเสนอแนวทางการจัดการและใช้ประโยชน์จากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ อาทิ การทำน้ำปลา ปลาร้า ข้าวเกรียบปลา ปลาแดดเดียวปรุงรส น้ำพริกปลากรอบ ปลาเส้นโรยงาทอด เป็นต้น ในการนี้มีครู นักเรียน ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม การอบรมแบ่งเป็นฐานปฎิบัติการเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองปฏิบัติจริง ทำให้ประชาชนสามารถแปรรูป “ปลาหมอคางดำ” เป็นสินค้า ช่วยเพิ่ม “รายได้” และยังคง “รักษาระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ” ให้คงความหลากหลายทางชีวภาพ 

Advertisment

โครงการเสริมสร้างการรับรู้และแนวทางการใช้ประโยชน์จากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน : ปลาหมอคางดำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการภายใต้ RRC-EA Wetland Fund ภายใต้ศูนย์แรมซาร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (The Ramsar Regional Center – East Asia) หรือ RRC-EA (สาธารณรัฐเกาหลี) เป็นการดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูล จัดทำเอกสารและเสริมสร้างการรับรู้แนวทางการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำของประเทศไทย ทั้งนี้โครงการฯ จะเป็นตัวอย่างและแนวทางในการบริหารจัดการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำระดับภูมิภาคต่อไป