คมนาคมแจงแอชตันอโศก แก้ปมทางเข้า-ออก จบปี’67

อัพเดต 1 ปีคดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม เผยมีความคืบหน้า มั่นใจเป็นผลดีกับเจ้าของ 668 ห้องชุดโดยไม่ต้องทุบทิ้งตึก คาดมีข้อยุติภายในปีนี้ รองปลัดคมนาคมแนะเหลือแค่ให้ รฟม. ใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทม์ไลน์คดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 หรือแอชตัน อโศก จะครบกำหนด 1 ปีในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ ซึ่งแอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินว่า ใบอนุญาตก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

สร้างผลกระทบให้กับเจ้าของห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ห้องชุด จากจำนวนทั้งหมด 733 ห้องชุด และมีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ทางเข้า-ออกโครงการ

จนกระทั่งต่อมากระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตันอโศก โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ล่าสุดพบว่าความพยายามแก้ไขปัญหามีความคืบหน้าเป็นลำดับ มีแนวทางที่ชัดเจน โดยให้ความมั่นใจว่ามีทางออกที่เป็นผลดีให้กับเจ้าของห้องชุดทั้ง 668 ห้องชุด

สุรพงษ์ ปิยะโชติ
สุรพงษ์ ปิยะโชติ

รมช.คมนาคมชี้มีข้อยุติปีนี้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับจากเดือนตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน คณะทำงานกระทรวงคมนาคมจัดประชุมหลายครั้ง และรายงานว่ามีความคืบหน้าพอสมควร ทางออกของปัญหานี้กำลังดูเรื่องขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

Advertisment

เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนราชการ โดยเฉพาะ รฟม. และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมั่นใจว่าจากความคืบหน้าของคณะทำงานจะสามารถหาข้อยุติได้ภายในปี 2567 อย่างแน่นอน

“ปัญหาข้อเดือดร้อนโครงการแอชตัน อโศก ถึงยังไงก็ต้องช่วยลูกบ้านอยู่แล้ว กำลังดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าจะหาทางออกไปได้ยังไง เพราะตอนนี้เป็นเรื่องความเดือดร้อนของลูกบ้าน ไม่ใช่เรื่องของเจ้าของโครงการแล้ว ในช่วง 8-9 เดือนจนถึงตอนนี้

เราก็พยายามหาทางช่วยลูกบ้านอยู่ ตามแนวทางที่จะนำไปสู่ข้อยุติก็คือ ลูกบ้าน (เจ้าของห้องชุด) ก็ต้องได้ใช้เส้นทางเข้า-ออกอยู่แล้ว โดย รฟม.เป็นคนอนุญาตอยู่แล้ว และ กทม.ก็ต้องปล่อยมืออยู่แล้ว”

นายสุรพงษ์กล่าวอธิบายด้วยว่า ในอดีตการขออนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก มีองค์ประกอบครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด (มีใบอนุญาตจาก รฟม.ให้ใช้พื้นที่เวนคืนเป็นทางเข้า-ออกโครงการได้, ต่อมาใบอนุญาตจาก รฟม.ถูกนำมาประกอบเป็นเอกสารยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างจาก กทม. และ กทม.ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้) โครงการจึงสามารถก่อสร้างได้ ต่อมาเมื่อคอนโดฯ แอชตัน อโศก ก่อสร้างเสร็จแล้ว จะรื้อถอนอาคารออกก็คงไม่ได้

Advertisment

“โปรเซสแก้ปัญหาแอชตัน อโศก ค่อนข้างจะซับซ้อน เพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 ยังมีกฎหมายเวนคืน ระเบียบขอใช้ทางเข้า-ออกของ รฟม. ที่ได้อนุญาตให้กับแอชตัน อโศก จะเห็นว่าปาร์ตี้มีเยอะ ก็เลยต้องใช้เวลาเยอะหน่อย แต่ผมให้ความมั่นใจว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องให้ชาวบ้าน (เจ้าของห้องชุด) ใช้ประโยชน์ทางเข้า-ออกอยู่แล้ว

เพราะเป็นที่ดินที่เราใช้สร้างรถไฟฟ้า สร้างสถานี และลานจอดรถไปหมดแล้ว บรรลุวัตถุประสงค์เวนคืนที่ดินแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ที่ดินทางเข้า-ออกต่างหากที่ต้องใช้ดุลพินิจหลายข้อ และเป็นประเด็นหลักที่กำลังหาทางออกกันอยู่” นายสุรพงษ์กล่าว

668 เจ้าของห้องชุดกระทบหนัก

ปัญหาโครงการนี้นับจุดเริ่มต้นในปี 2557 ซึ่งได้ขอใบอนุญาตจาก 8 หน่วยงาน จำนวน 9 ใบอนุญาตด้วยกัน จุดโฟกัสอยู่ที่การขอใบอนุญาตผ่านทางเข้า-ออกโครงการบนที่ดินเวนคืน และได้รับใบอนุญาตใช้ทางเข้า-ออกจาก รฟม. จากนั้นนำเอกสารใบอนุญาตของ รฟม. เป็นเอกสารประกอบการขอใบอนุญาตก่อสร้างจาก กทม. และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย

บริษัทเริ่มตอกเสาเข็มลงมือก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปี 2561 และเริ่มทยอยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับลูกค้าจนถึงปัจจุบันจำนวน 668 ห้องชุด ต่อมาได้มีคำตัดสินของศาลปกครองกลางในปี 2564 และศาลปกครองสูงสุดในปี 2566 แนวคำตัดสินใบอนุญาตก่อสร้างของ กทม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบอนุญาตใช้ทางเข้า-ออกของ รฟม.ไม่สมบูรณ์

ไฮไลต์อยู่ที่คำตัดสินของศาลปกครองมีขึ้นหลังจากแอชตัน อโศก ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าแล้ว 668 ห้องชุด โดยล่าสุดมีสัญญาณบวกจากคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม ว่ามีทางออกให้โครงการสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเวนคืน

แนะลูกบ้านขอใช้ทางจาก รฟม.

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าคณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 8 เดือนเศษที่ผ่านมา มีแนวทางที่จะสามารถหาทางออกให้กับเจ้าของห้องชุดได้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องรื้อถอนอาคารแต่อย่างใด

ความคืบหน้า ณ ปัจจุบัน ทาง กทม.ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้าง ยังไม่ได้มีการออกคำสั่งภายใต้มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้าง เพื่อให้แก้ไขทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก เนื่องจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามข้อร้องเรียนของลูกบ้านที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม คดีแอชตัน อโศก เกี่ยวพันกับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด หน่วยงานราชการไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจศาลได้ คณะทำงานชุดนี้จึงไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความก้าวหน้าแนวทางแก้ไขในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยืนยันว่ามีการจัดประชุมหลายครั้ง และมีความคืบหน้าที่คาดว่าจะสามารถนำมาสู่ข้อยุติปัญหานี้ได้ เพื่อช่วยเหลือ แก้ไข และลดผลกระทบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

“ที่ประชุมคณะทำงานเราพบว่ามีแนวทางออกได้หลายแนวทาง และจริง ๆ แล้วมีจุดหนึ่งที่เจ้าของห้องชุดสามารถทำได้ทันทีในตอนนี้ ก็คือให้ร่วมกันลงลายมือชื่อและทำหนังสือมาถึง รฟม. ขอให้ รฟม.พิจารณาทางเข้า-ออกแอชตัน อโศก ใช้เป็นที่สมประโยชน์แล้วตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่กระบวนการนี้ยังไม่เกิดขึ้นเลย เข้าใจว่าเป็นเพราะเจ้าของห้องชุดที่ได้รับความเดือดร้อนไม่รู้ขั้นตอนนี้ ก็เลยยังไม่เคยมีการทำหนังสือถึง รฟม.โดยตรง” นายสรพงศ์กล่าว

ระดมปลดล็อกที่ดินทางเข้า-ออก

แหล่งข่าวจากคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมกล่าวเสริมว่า หนึ่งในทางออกของแอชตัน อโศก อยู่ที่ข้อกฎหมายที่โฟกัสเฉพาะแปลงที่ดินที่ รฟม.อนุญาตเป็นทางเข้า-ออกโครงการ ขนาดความกว้าง 6.5 เมตรในส่วนกรรมสิทธิ์เวนคืนของ รฟม. (ความกว้างถนน 13 เมตร เป็นกรรมสิทธิ์บนที่ดินเดิม 6.5 เมตร ต่อมามีการขอเช่าจาก รฟม.บนที่ดินเวนคืนเพิ่มอีก 6.5 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกโครงการ)

เพราะฉะนั้น ตามแนวทางนี้ แปลงที่ดินทางเข้า-ออกความกว้าง 13 เมตรดังกล่าว ต้องทำให้ศาลปกครองเห็นว่า รฟม.ได้ใช้สมประโยชน์ของวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว

“ที่ผ่านมาที่ดินเวนคืนมีการใช้สมประโยชน์แล้ว 3 อย่างคือ ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สร้างสถานีรถไฟฟ้า และสร้างลานจอดรถ ยังติดข้อกฎหมายอยู่ที่แปลงที่ดินทางเข้า-ออกที่อนุญาตเพิ่มเติมความกว้าง 6.5 เมตร ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า รฟม.ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว”

ข้อแนะนำก็คือ รฟม. ต้องใช้พื้นที่ส่วนที่เป็นทางเข้า-ออกโครงการ ให้สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์การเวนคืนครบถ้วน เหมือนกับโครงการอื่นๆ ที่ รฟม.ได้อนุญาต หลังจากนั้น ให้ลูกบ้านมีหนังสือคำขอใช้ที่ดินจากการเวนคืนเป็นทางเข้า-ออกของโครงการ จะเป็นช่องทางให้ รฟม. สามารถพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้เป็นทางเข้า-ออกได้อย่างถูกต้องต่อไป