“125 สาทร” ตระกูลมหากิจศิริ แพ้คดีคอนโดฯหรู “เดอะเม็ท” เดินหน้าต่อสู้คดี

โครงการ 125 สาทร

“125 สาทร” ของตระกูลมหากิจศิริ แพ้คดีคอนโดฯหรู “เดอะ เม็ท” ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอน ใบอนุญาตก่อสร้าง-EIA นิติบุคคลเดอะ เม็ท ทำหนังสือชี้แจง “เจ้าของร่วม” คดียังไม่ถึงที่สุด “125 สาทร” มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 30 วัน เตรียมแผนต่อสู้ทางคดี

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษาเพิกถอน รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) และใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการ 125 สาทร ของตระกูลมหากิจศิริ บนถนนสาทรใต้ เมื่อ 27 กันยายน 2566

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีโดยเจ้าของร่วมอาคารชุดเดอะ เม็ท (ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกัน) โดยเดอะ เม็ท ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA และการออกใบอนุญาตก่อสร้างสำหรับโครงการ 125 สาทร

โดยผู้พัฒนาโครงการเดอะ เม็ท คอนโดมิเนียมหรู ย่านสาทร คือ บริษัท เพบเบิล เบ ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนไทย-สิงคโปร์

ขณะที่โครงการ 125 สาทร ออกแบบเป็นคอนโดฯไฮไรส์ สูง 36 ชั้น 2 อาคาร รวม 755 ยูนิต เป็นของ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลมหากิจศิริ ร่วมทุนกับญี่ปุ่นสองราย ได้แก่ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด  และบริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด

Advertisment

ขณะที่ทางนิติบุคคลอาคารชุดของเดอะ เม็ท ได้ทำหนังสือชี้แจง “เจ้าของร่วม” เมื่อ 28 กันยายน 2566 ว่าจากที่ ศาลปกครอง ได้มีคำพิพากษา ให้เดอะ เม็ท เป็นฝ่ายชนะคดี ในคดีที่นิติบุคคลอาคารชุดเดอะ เม็ท ได้ยื่นฟ้องเมื่อ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เพื่อคัดค้านการให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ 125 สาทร โดยศาลได้มีคําพิพากษาเป็นคุณต่อเดอะ เม็ท ในหลายประเด็น และคําพิพากษาดังกล่าวได้ส่งผลให้รายงาน EIA โครงการ 125 สาทร และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารถูกเพิกถอนโดยมีผลย้อนหลัง

ทั้งนี้ ศาลได้ให้เหตุผลหลักว่า เมื่อปี 2547 กรุงเทพมหานครได้คํานวณพื้นที่อาคารเดอะ เม็ท ไม่ถูกต้องและได้ให้ความเห็นชอบตามพื้นที่ที่คํานวณไม่ถูกต้องนั้น ทั้งที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโครงการเดอะ เม็ท (7 ไร่ 40 ตารางวา) และที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโครงการ 125 สาทร (3 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา) ต่างได้เคยใช้เพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสําหรับโครงการเดอะ เม็ท มาแล้ว

ดังนั้น การกําหนดขนาดของอาคารที่จะสามารถสร้างบนพื้นที่ดิน 3 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา หน้า โครงการเดอะ เม็ท จึงมีข้อจํากัด ในประเด็นนี้ ศาลเห็นว่าคณะกรรมการผู้ชํานาญการของกรุงเทพมหานครที่อนุมัติรายงาน EIA โครงการ 125 สาทร ควรพิจารณาข้อกังวลของเดอะ เม็ท มากกว่านี้ในเรื่องขนาดอาคารของโครงการ 125 สาทร ที่สร้างเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต

สําหรับประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เดอะ เม็ท ยกขึ้นกล่าวอ้าง เช่น การบดบังทิศทางลมและแสงแดด และคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศที่หันมาทางเดอะ เม็ท ศาลเห็นว่าคณะกรรมการผู้ชํานาญการได้ปฏิบัติตามคู่มือคณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายแล้ว ซึ่งประเด็นนี้อาจจะยังเป็นข้อโต้แย้งได้อยู่

Advertisment

อนึ่ง แม้เดอะ เม็ท จะเป็นฝ่ายชนะคดี แต่ตามกฎหมายไทย เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่สามารถบังคับตามคําพิพากษาได้ ซึ่งหมายความว่า แม้คําพิพากษาจะส่งผลให้รายงาน EIA โครงการ 125 สาทร และใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ถูกเพิกถอน แต่พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จะยังคงสามารถดําเนินการก่อสร้างต่อไปได้หากยื่นอุทธรณ์ กล่าวคือ หากพีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ อุทธรณ์คําพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดและเดอะ เม็ท ยื่นคําแก้อุทธรณ์ คดีจะยังไม่ถึงที่สุด และการก่อสร้างโครงการ 125 สาทร จะดําเนินต่อไปได้จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคําพิพากษา

แต่หากพีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ ไม่อุทธรณ์ คดีนี้จะถึงที่สุดภายใน 30 วัน และคําพิพากษาจะมีผลอย่างถาวร กล่าวคือ การก่อสร้างโครงการจะต้องหยุดลง (แต่ทั้งนี้ พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ อาจเลือกที่จะปรับการออกแบบและเริ่มขึ้นตอนขอความเห็นชอบรายงาน EIA ใหม่ก็ได้) แม้คําพิพากษาจะเป็นคุณต่อเดอะ เม็ท แต่ช่วง 30 วันข้างหน้านี้จะเป็นช่วงเวลาสําคัญที่เราต้องรอดูต่อไปว่าพีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จะดําเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม นิติบุคคลอาคารชุดเดอะ เม็ท จะจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ (EGM) ในเดือนตุลาคมเพื่อลงคะแนนเพื่อมีมติอนุญาตให้นิติบุคคลอาคารชุดเดอะ เม็ท ยื่นคําแก้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหากจําเป็น โดยเจ้าของร่วมทุกท่านจะได้รับเอกสารเร็ว ๆ นี้ ขอความร่วมมือเจ้าของร่วมทุกท่านเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว หรือแต่งตั้งผู้รับมอบฉันทะให้ลงคะแนนเสียงเพื่อปกป้องสิทธิของเดอะ เม็ท ต่อไปด้วย