กกต.เลื่อนรับรอง 200 สว. เช็กสารพัดคำร้อง เสี่ยงยื้อประกาศผลยาว

สว.

เพราะมีคำร้องเรียนถึง 614 เรื่อง มีคดีคาที่ศาลปกครอง ทำให้ กกต. ต้องเลื่อนการประกาศผลการเลือก สว. 200 คน ออกไปก่อน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดหมายว่าจะประกาศผลการเลือก สว.200 คน ทว่าหลังผ่านการเลือกมาถึง 3 ด่านอรหันต์ ยังมิวายถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความผิดปกติ จนมีผู้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว มากกว่า 614 เรื่อง ยังไม่นับการที่อดีตผู้สมัครไปร้อง ศาลปกครอง

ล่าสุดในวันนี้ (3 ก.ค.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ออกมาระบุถึงกระแสข่าว การเลื่อนประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน ว่า ทุกอย่างจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จ จึงจะมีการประกาศรับรอง สว.

ประธาน กกต. ระบุว่า ในวันนี้ยังพิจารณาการรับรองไม่เสร็จ แต่หากยังไม่เสร็จก็มีหลักที่จะสามารถประกาศรับรองได้ หากเห็นว่าสุจริตเที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

“ตามแผนการที่จะประกาศรับรองวันที่ 3 ก.ค. จะประกาศก็ต่อเมื่อ กกต.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แนวเรื่องต่าง ๆ แล้วเสร็จ ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการเลื่อน แต่ยังไม่เสร็จ จึงเป็นการทำให้เสร็จแล้วจะประกาศ” ประธาน กกต.กล่าว

Advertisment

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือก สว. สิ้นสุดลงไม่ทันข้ามคืน เกิดปรากฏการณ์ สว.สีน้ำเงิน ไปจนถึงข้อกังขาคุณสมบัติ ของ สว.บางราย นำมาสู่การยื่นคำร้องหลายคำร้อง หลังการเลือก สว. 200 คน สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิด “เกมพลิก” อีกครั้งหนึ่ง

คำร้องดีกรีสูงสุดให้การเลือก สว.”เป็นโมฆะ”

สำหรับคำร้องที่สำคัญบางส่วนที่อาจทำให้ การประกาศรับรองผล สว.ต้องสะดุด มีดั้งนี้

27 มิถุนายน 2567 นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัครรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่ตกรอบการเลือกระดับจังหวัด รอบแรก ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยการเลือก สว.ปี 2567 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกล่มเดียวกัน

แต่ กกต.ดำเนินการโดยให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ลงคะแนนให้กลุ่มเดียวกัน ในทุกรอบทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งการกระทำของ กกต.เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ที่อาศัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตา 107 (2)

Advertisment

ซึ่งตนมองว่าเลือกกันเองแบบนี้ส่อให้เกิดการฮั้ว จึงร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบว่ากระบวนการเลือกกันเองนี้ถูกต้องตามกระบวนการ หรือการเลือก สว. หรือไม่ และขอเรียกร้องให้การเลือกเป็นโมฆะ และจัดการคืนเงินค่าสมัครให้กับผู้สมัคร

28 มิถุนายน 2567 กล้าณรงค์ จันทิก สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมธิการการองค์องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ของวุฒิสภา ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.กรณีมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยอ้างอิงถึงการการเลือก สว.

ตั้งแต่ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 และระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา และระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน นี้ ตามข้อมูลที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะ ก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับกรณีต่าง ๆ ที่เป็นเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ว่าเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

เช่น ข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดตั้งเพื่อลงสมัคร โดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครไม่ตรงตามกลุ่ม 20 กลุ่ม การจ้างวันผู้มาลงสมัครเพื่อประโยชน์ในการเลือกผู้สมัครบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ปรากฏการณ์ของจำนวนผู้ไม่ลงคะแนนให้ตนเองจำนวนมาก, กรณีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้รับคะแนนสูงผิดปกติ รวมทั้งการรวมกลุ่มและพบปะของผู้สมัครในรูปแบบต่าง ๆ

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร สว. กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเรื่องการบล็อกโหวตกับ 111 ว่าที่ สว. โดยอ้างว่าพบความผิดปกติการลงคะแนน โดยเฉพาะการเลือกไขว้ มีลักษณะการลงคะแนนเป็นชุด ๆ ใบลงคะแนนมีหมายเลขเหมือนกัน โดยอ้างว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายการลงคะแนนช่วงเลือกไขว้และเมื่อเปรียบเทียบกับโพยที่เก็บได้ก็ตรงกัน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 จักรพงษ์ คงปัญญา อดีตผู้สมัคร สว. กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรืออื่น ๆ พร้อมตัวแทนอดีตผู้สมัคร ให้ตรวจสอบความถูกต้องทุกคะแนนว่าไม่มีการเอาเปรียบ หากพบมีเหตุควรเชื่อว่ามีการฮั้วขอให้ กกต.ประกาศผลการเลือก สว. ครั้งนี้เป็นโมฆะ และจัดให้มีการเลือกใหม่ทันที

วันเดียวกัน จาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่มที่ 20 (กลุ่มอื่น ๆ) เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic กรุงเทพมหานคร ยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครองสูงสุด ฐานปล่อยปละละเลยการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้ศาลสั่งระงับการประกาศรับรองออกไปก่อนระหว่างรอการไต่สวน เหตุมองว่ากระบวนการเข้ามาของบางคนเชื่อมโยงกับบางกลุ่มที่พยายามจัดตั้ง

รวมถึงการเลือกลงในกลุ่มอาชีพอาจผิดตั้งแต่แรก บางจังหวัดมีคนเยอะ บางคนลงไม่ตรงกลุ่มอาชีพจนมีความคลุมเครือไม่เหมาะสมกับหน้าที่และอาจส่อถูกครอบงำจากบางกลุ่ม จึงร้องเรียนให้ศาลปกครองฯออกคำสั่งคุ้มครองไต่สวนฉุกเฉิน

614 คำร้องเรียนความผิดปกติของการเลือก สว.

ก่อนหน้านี้ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ข้อร้องเรียนความผิดปกติการลงคะแนนเลือก สว. เบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 614 เรื่อง แบ่งกลุ่มจำแนกได้ดังนี้ 1.ร้องเรียนคุณสมบัติให้ลบชื่อ 400 กว่าเรื่อง หรือคิดเป็น 65%

2.เรื่องไม่สุจริต ให้เงิน ให้ทรัพย์สินฯ เพื่อการได้มาซึ่ง สว. 14% และอีก 4% เป็นเรื่องการร้องทุจริตให้ลงคะแนน จ้างสมัคร เรียกรับให้เพื่อลงคะแนน รวมถึงการนับคะแนนของเจ้าหน้าที่ขานคะแนน และการร้องระดับจังหวัดมี 175 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ กกต.กำลังเร่งดำเนินการพิจารณา

ฉะนั้น หลังจากนี้ต้องดูว่าการทำงานของ กกต. ในการตรวจสอบผู้ที่จะเข้ามานั่งในสภาสูงของประเทศจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ สมกับภาษี 200 กว่าล้านบาทหรือไม่ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ผลักดันกฎหมายชาติให้เดินหน้าไปในทางที่เหมะสม