นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รับสื่อมีผลต่อการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รับ ไม่ว่าสื่อรายงานทางบวก หรือลบ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจของศาล เผยอยากทำให้ทุกอย่างโปร่งใส

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2567 โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปาถกฐาพิเศษเรื่อง “บทบาทของสื่อในสังคมข้อมูลข่าวศาลยุคดิจิทัล” ตอนหนึ่งว่า ข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัลมีความยุ่งเหยิงมาก แน่นอน สื่อเป็นเครื่องมือของศาล และศาลต้องมีสื่อ ใช้สื่อเป็นอย่างน้อยต้องมีจดหมายข่าวต่าง ๆ

แต่ขณะเดียวกันเราต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ถูกบีบโดยสื่อด้วย ไม่ว่าสื่อจะรายงานในทางบวก ทางลบ รายงานสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจของศาลอยู่ด้วยในบางลักษณะ จะมากจะน้อยแล้วแต่ดุลพินิจของตุลาการแต่ละท่าน

บางท่านอาจจะคิดถึงสถานการณ์มากเป็นกรณีพิเศษ บางท่านอาจจะไม่สนใจสถานการณ์บ้านเมืองเลยก็ได้ โดยตนมอง สังคมไทยเราอยู่ในสังคม ที่มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร ตนถือว่ามาก เมื่อเปรียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน น่าจะดีกว่าพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มากกว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ด้วยซ้ำ ในบางเรื่อง

นายนครินทร์กล่าวอีกว่า องค์กรศาล ไม่ใช่องค์กรที่จะต้องกระตือรือร้นสื่ออะไรทั้งหมด เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีท่านตุลาการท่านหนึ่ง ก็บอกว่าควรจะสื่อให้เขาทราบดีไหม ว่าทำไมเราต้องประชุมวันที่ 18 (18 มิ.ย. มีกรณีพิจารณากฎหมายลูก สว. 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงการยุบพรรคก้าวไกล และสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน)

Advertisment

ท่านบอกตนทางไลน์ แต่พวกเราก็เงียบไม่อยากบอก ซึ่งไม่ใช่สายมูอะไร ไม่มีเรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย ไม่ใช่ว่าเราจะไปตกลงกับใครจนกระทั่งมาประชุมวันที่ 18 เหตุผลง่ายมาก เพราะตุลาการท่านหนึ่งท่านขอลามาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว ซึ่งถ้าไม่ประชุมกันสัปดาห์นั้น ก็ยกเว้นไปเลย

ก็ตกลงกันประชุมวันที่ 18 การประชุมไม่ได้มีอะไรลึกลับซับซ้อน โลกยุคดิจิทัลทำให้มนุษย์ติดต่อกันได้ เข้าถึงกันรวดเร็ว ง่าย แต่ในมุมกลับมันคือโลกของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำให้คนมีการรับฟังความอีกฝั่งน้อยเกินไป

“ผมฝากไว้จัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร และเรื่องจรรยาบรรณสื่อในยุคดิจิทัลอยู่ที่ไหน ถ้ามีการควบคุมดูแลกันบ้าง แต่การไม่ควบคุมกันเลย มันคือสังคมอนาธิปไตย เรายืนอยู่สองขา โลกฝั่งหนึ่งจะเป็นอนาธิปไตย หรือจะเป็นเผด็จการ แต่ผมว่าเราอย่าเป็นทั้งสองอย่างจะดีกว่า อยู่ตรงกลาง ๆ ให้สื่อยุคดิจิทัล เคลื่อนที่ไป” นายนครินทร์กล่าว

นายนครินทร์กล่าวว่า ตนหวังว่าการสัมมนาในวันนี้ อยากฟังสื่อที่มาร่วมวันนี้ด้วย พวกเราเองคงต้องคิดถึงความพอเหมาะพอควรที่จะสื่อกัน บางเรื่องเราตอบได้ แต่บางเรื่องต้องอย่าลืมศาลเป็นองค์กรที่อยู่กับความลับ ถ้าเราเปิดเผยทุกอย่างทั้งหมดอันนั้นไม่ใช่ศาล ความจริงองค์กรของรัฐบางประเภท ก็เปิดเผยทุกอย่างไม่ได้

Advertisment

เรายังคิดว่า เราต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใส เปิดเผยได้ทั้งหมด แต่บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้ก็คือเปิดเผยไม่ได้ เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความ ความมั่นคงบางเรื่อง ถ้าเราเปิดเผยความมั่นคงของประเทศต่อสาธารณชนทั้งหมดก็เรียบร้อยครับ รัฐจะไม่เหลือสภาพเลย ความมั่นคงเศรษฐกิจทั้งหลาย บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้จริง ๆ ความพอเหมาะพอควรเราอย่าสุดโต่ง ตนว่าให้อยู่ในจุดที่มีความสมดุลกันระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้ กับการต้องดูแลให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ