จำแนกเครือข่าย 200 สว. ธุรกิจ-การเมือง อดีตข้าราชการบ้านใหญ่

politik
มงคล สุระสัจจะ, พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์, วุฒิชาติ กัลยาณมิตร

โฉมหน้า-อาชีพและที่มาและประวัติสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน ถูกสปอตไลน์ฉายส่องทันที หลังคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 มิถุนายน 2567

นักการเมือง นักธุรกิจ และภาคประชาสังคม เกาะติดรายชื่อ สว.ใหม่ 200 คน ที่ผ่านการเลือกระบบปิด แบบเลือกกันเอง และเลือกไขว้ ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด และระดับประเทศ

การเลือก สว.ระบบปิด ที่ผลปรากฏว่า ได้ สว.เครือข่ายการเมือง ไว้ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ จากเกือบ 5 หมื่นชื่อทั่วประเทศ ถูกคัดกรองเหลือเพียง 200 คน กกต.สรุปว่า จังหวัดที่มี สว.มากที่สุด คือ จังหวัดบุรีรัมย์ 14 คน รองลงมาคือ กทม. 9 คน สุรินทร์ 7 คน พระนครศรีอยุธยา 7 คน อ่างทอง 6 คน สตูล 6 คน

ส่วนจังหวัดที่มี สว.เพียงแค่ 1 คน ประกอบด้วย แพร่ สระบุรี ตรัง ชุมพร พิษณุโลก ลำปาง หนองคาย พะเยา อุดรธานี

จังหวัดที่ไม่มี สว.เลย คือ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน มหาสารคาม ตาก ร้อยเอ็ด ลพบุรี นราธิวาส สกลนคร สระแก้ว อุตรดิตถ์

Advertisment

กกต.รับสอบ 614 คำร้อง

ด้วยวิธีการเลือกที่ซับซ้อน และไม่เคยปรากฏมาก่อน ในแต่ละระดับทั้ง 6 รอบ เฉพาะอย่างยิ่งในระดับประเทศ ผลปรากฏว่าในการเลือกรอบแรกคือเลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน ผู้สมัคร สว.หลายสาย ที่เกาะกลุ่มกันมาตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายพรรคการเมืองที่มีฐานที่มั่นในภาคอีสาน และกระจายอยู่ในหลายจังหวัดใหญ่ จะได้คะแนนสูงอันดับต้น ๆ ก่อนเข้าสู่ระบบการเลือกไขว้ และได้รับเลือกเป็นสัดส่วนสำคัญจากทั้งหมด 200 คน

เมื่อผลการเลือกจบลง จึงมีคำร้องเรียนมากถึง 614 คำร้อง แบ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อ 400 กว่าคำร้อง คำร้องเรื่องความไม่สุจริต คำร้องจ้างให้ลงคะแนน รวมถึงคำร้องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ คำร้องที่บอกว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง

ทั้งนี้ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าจะประกาศรับรองผล 3 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

นักปกครอง ทหาร ตำรวจ เข้าสภาสูง

เมื่อเช็กชื่อกลุ่มใหญ่ที่สุดคือเป็นกลุ่มอดีตข้าราชการ นักปกครอง ทหาร ตำรวจ แบ่งได้ดังนี้

Advertisment

กลุ่มอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าฯบุรีรัมย์ เคยเกือบจะได้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้การเห็นชอบ แต่ถูกทักท้วงอย่างกว้างขวางเรื่องความอาวุโส ภายหลังจึงถอนตัว หลังการเลือก สว.ปรากฏข่าวว่าจะมาเป็นแคนดิเดตประธานวุฒิสภา

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการอ่างทอง นายธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าฯ จ.ศรีสะเกษ นายอภินันท์ เผือกผ่อง อดีตผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช

นายอภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการหลายจังหวัด (บุรีรัมย์) นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ อดีตรองผู้ว่าฯสมุทรสงคราม-จันทบุรี (จันทบุรี) นายอลงกต วรกี อดีตรองผู้ว่าฯ จ.อุทัยธานี นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม อดีตผู้ว่าฯพิจิตร นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ อดีตผู้ว่าฯหนองคาย

กลุ่มทหาร พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาค 4 และอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.61 ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ก่อนหน้านี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงาน มท.1 ด้วย อีกหนึ่งคนที่ตกเป็นข่าวว่าจะนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา

พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.สุกิจ ทั่งทอง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก

กลุ่มตำรวจ พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ พล.ต.ต.สุนทร ขวัญเพ็ชร อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง อดีตเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

อดีตองค์กรอิสระ, องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (ระยอง) พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6, อดีต สว. 2 วาระในช่วงปี 2551-2557 และเคยเป็นประธานอนุกรรมการการเลือกตั้ง สอบสวนกรณีถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร อดีตเลขาธิการ ปปง. (ชัยภูมิ) พ.ต.ท.สุริยา บาราสัน อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง จ.สตูล

กลุ่มธุรกิจ คอนเน็กชั่นการเมือง

นอกจากนี้ ในรายชื่อ สว.กลุ่มอื่น ๆ แม้เป็นภาคธุรกิจ ภาควิชาการ แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นกัน

ตัวอย่าง เช่น สายท่องเที่ยว 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ หรือด้านอาชีพท่องเที่ยว นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายกัมพล สุภาแพ่ง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาในฐานะเจ้าของกิจการธุรกิจโรงแรม นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟอร์รี่เกาะช้าง จำกัด

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ เจ้าของที่พักโฮมสเตย์อ่าวนาง และยังเป็นวิทยากร นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ นายณภพ ลายวิเศษกุล เจ้าของโรงแรมลายทอง อุบลราชธานี, อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ เจ้าของกิจการร้านอาหารไทยและสปาไทยในมอสโก รัสเซีย นายกมล สุขคะสมบัติ ที่ปรึกษานายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงห์บุรี เคยเป็นผู้สมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนบุคคลด้านท่องเที่ยวที่อยู่ในกลุ่มอาชีพอื่น อาทิ นายโชติชัย บัวดิษ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระยอง นายชวพล วัฒนพรมงคล อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สมุทรสาคร นายสุนทร เชาว์กิจค้า อดีตประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา นายอภิชา เศรษฐวราธร นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเคยเป็นกรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่

ญาติสนิทรัฐมนตรี-ฐานการเมือง

ขณะที่กลุ่มอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม อาทิ นายพรเพิ่ม ทองศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทำงานคอมพิวเตอร์บริษัทในสหรัฐอเมริกา 28 ปี อดีตหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐบาลชุดปัจจุบัน พี่ชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม อาชีพนักวิชาการ อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ ม.รังสิต และ ม.เกริก อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจและฐานราก

นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ ประธานอนุกรรมการ การพัฒนาธุรกิจ การลงทุนฯ องค์การสะพานปลา ปี 2567 และเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น. อดีตที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยังเคยเป็น รอง ผอ.สํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ และที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายสุพัตรชัย เตียวเจริญโสภา เจ้าของกิจการขายคอมพิวเตอร์ใน จ.สุรินทร์ เครือญาติ นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา อดีต สส.สุรินทร์ นายชาญวิศว์ บรรจงการ พนักงานรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงดิจิทัลฯ, อดีตเลขาธิการหอการค้า จ.พังงา

อดีตทีมงานภูมิใจไทย-เพื่อไทย

กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม นายจิระศักดิ์ ชูความดี อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายนิรัตน์ อยู่ภักดี อดีต สว.จังหวัดชัยภูมิ และผู้ก่อตั้ง บริษัท รีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ อดีต ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเคยทำงานใน บมจ.บางจาก

นายนพดล อินนา ผู้ร่วมก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT), อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนฯ ม.ธรรมศาสตร์ และอดีต สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย ปี 2544 นอกจากนี้ยังเคยเป็น อดีตเลขานุการ รมว.ยุติธรรม สมัย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์

นายปฏิมา จีระแพทย์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในยุค คสช. ได้รับคำสั่ง คสช. ให้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

กลุ่มธุรกิจ SMEs อาทิ นายนิพนธ์ เอกวานิช เคยดำรงตำแหน่งประธาน บ.ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสาร Smart EV Bus ในภูเก็ต และเคยลงสมัคร สส.เขต 1 จ.ภูเก็ต ของพรรคภูมิใจไทย นางเบ็ญจมาศ อภัยทอง เจ้าของกิจการร้านเบ็ญจมาศอาหารสด

นายชัยธัช เพราะสุนทร ผู้ก่อตั้ง บริษัท สุขุมวิทการพิมพ์ จำกัด น.ส.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย อดีตคณบดีคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจ ม.กรุงเทพ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจของ SMEs ทั้งบริษัทเอกชนและวิสาหกิจชุมชน นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร ผู้ก่อตั้งบริษัทจัดหางาน เคนเนเดีย คอนเน็ค จำกัด

กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม อาทิ นายวีรยุทธ สร้อยทอง อาชีพวิศวกร นักนโยบายคณะก้าวหน้า ทำเรื่อง “น้ำประปาดื่มได้” นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ เจ้าของกิจการ ประธานกรรมการ บจ.พรรณวรา อินเตอร์เนชันแนล นางธารนี ปรีดาสันติ์ เจ้าของธุรกิจก่อสร้างและเจ้าของกิจการโรงงานผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับปูผิวทางลาดยาง นายพละวัต ตันศิริ เจ้าของกิจการและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2

นายธนชัย แซ่จึง อาชีพรับเหมาก่อสร้าง ขายผลิตภัณฑ์ปูนสำเร็จและดูดทราย ศรีสะเกษ เชื่อมโยงกับตระกูลบ้านใหญ่การเมืองที่ย้ายค่ายจากเพื่อไทยมาอยู่ภูมิใจไทยในรอบที่ผ่านมา นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย น.ส.ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ กรรมการผู้จัดการโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และผู้บริหารโรงแรม

ขณะที่ด้านกีฬา ปรากฏชื่อ นายพิบูลย์อัฑฒ์ หฤหรรษ์ปราการ อาชีพค้าขายและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2562-2566 อดีตที่ปรึกษานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และ รมว.แรงงาน สมัยเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายปราณีต เกรัมย์ อดีตนักฟุตบอลอาวุโส และเคยเป็นคนสนิทนายชัย ชิดชอบ บิดานายเนวิน

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคไม่ได้เข้าไปจัดการเลือก สว.อย่างจริงจัง มีเพียง สส.ไม่กี่คนที่เข้าไปจัดตั้ง ดันเครือญาติตนเองให้เป็น สว. ดังนั้นการที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ตกรอบ ได้คะแนนเพียง 4 คะแนน เพราะเข้ามาตามระบบ พอเจอการจัดตั้งอย่างเป็นระบบทำให้พ่ายแพ้

วงการสื่อคึกคัก

กลุ่มสื่อสารมวลชน-นักวิชาการ ที่ได้เป็น สว. เช่น ดร.นันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการด้านสื่อ นายกมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เคยทำงานด้านนโยบายการศึกษาให้กับพรรคภูมิใจไทย ยังเป็นอดีตที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ

นอกจากนี้ ยังมี ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคลื่อนไหวประเด็นของภาคประชาสังคม

นายชิบ จิตนิยม ผู้ดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศชื่อดัง นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นักข่าวอาวุโสที่ทำข่าวในพื้นที่ภาคใต้และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้