เบื้องหลังสารพัดสาย 200 สว. อดีตทหาร-ข้าราชการ ทะลุเข้าสภาสูง

starSW
คอลัมน์ : Politics policy people forum

โฉมหน้าสมาชิกวุฒิสภา 200 คน ถูกเปิดเผยออกมา

คนเด่นดังที่สุดอย่าง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกจับตามองว่าเป็นตัวแทนกลุ่มอำนาจพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ถึงขั้นยกให้เป็น “ว่าที่ประธานวุฒิสภา” กลับกระเด็นตกรอบสุดท้ายอย่างพลิกความคาดหมาย

สวนทางกับ “คนนอก” วงการการเมือง ภาคสังคม ภาคประชาชน แต่กลับได้รับเลือกให้เป็น สว.ก็มีให้เห็น

นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว NGO ที่แพ็กกันแน่น ก็ติดเข้ากลุ่มได้เป็น สว.หลายราย

แต่กลุ่มที่เข้าป้าย-เข้าวิน แบบพร้อมเพรียง จำนวนหนึ่งถูกโยงว่าจัดตั้งโดยพรรคการเมือง มีชื่อเรียกว่า สว.สีน้ำเงิน หรือบางกลุ่มถูกเรียกว่า สว.สีแดง บางกลุ่มถูกโยงว่ามีคณะการเมืองเข้ามาจัดตั้ง ได้รับการขนานนามว่า สว.สีส้ม-สว.สายประชาธิปไตย กลายเป็นส่วนผสมแต่ละเฉดของ สว. 200 คน

Advertisment

ล็อกสูตรเสียงข้างมาก

“สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าวิเคราะห์ “แท็กติก” การเลือก สว.ระดับประเทศ จนกลายมาเป็น โฉมหน้า 200 สว. ว่า กลุ่ม สว.สีน้ำเงินเขี้ยวมาก คนเยอะ ทำให้การเลือกกันเองในกลุ่มมีความได้เปรียบ เขาเล่นแผนเอาชัวร์ คือ ในรอบแรกเลือกกันเองที่คัดให้เหลือ 40 คน เพื่อเข้าไปสู่รอบ 2 เลือกรอบไขว้นั้น เขาจะดูว่าทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ แต่ละกลุ่มควรเข้ารอบต่อไปกี่คนเพื่อไปกำหนดเกม

เช่น ล็อกคนไว้ 20 คน ในทุกกลุ่ม ยังไงก็คุมเกม สังเกตคะแนนเลือกกันเองรอบแรก ไม่ได้มีแค่เป็นแพ็ก 20 คนอย่างเดียว แต่มีทีม A ทีม B

ทีม A คือชื่อ สว.ต้องเข้าแน่ เพราะคะแนน 20 คนในทีม A ในแต่ละกลุ่มมีคะแนนโดดจากคนอื่นมาก และถ้ามีกำลังเหลือ ก็ส่งคะแนนให้ทีม B อีก 10 คน รวมเป็น 30 คน

“เขาเล่นเกมเสียงข้างมาก โดยเฉพาะรอบแรกเพื่อความชัวร์ในการเลือกรอบบ่าย เพราะถ้าคุมเกมได้เสียงข้างมากตั้งแต่รอบแรก ยังไงก็คุมเกมในฐานะเสียงข้างมากหมด โหวตยังไงพวกเราก็ได้”

Advertisment

“พอมาดูตอนเลือกรอบ 2 เลือกรอบไขว้ ที่สุดท้ายจะต้องเลือกให้เหลือ 10 คน เพื่อเป็น สว. เขาก็ใช้วิธีเดิม ล็อกประมาณ 5 คนต่อกลุ่มที่เอาแน่ ๆ ดังนั้นจึงมีคะแนนโดด 5 อันดับแรก เป็นอย่างน้อย บางกลุ่มได้ 6 คน บางกลุ่มได้ 7 คน แต่มีบางกลุ่มเหมาหมด เพราะคู่แข่งอ่อน จึงเห็นกลุ่มที่ล็อกไว้คะแนนจะโดดทิ้งห่างจากคนอื่น”

“เมื่อคะแนนทีม A ที่เอาชัวร์ได้เป็น สว.แน่แล้ว คะแนนที่เหลือก็จะยกมาให้ทีม B ซึ่งทีม B อาจจะได้ลำดับท้าย ๆ หรือหลุดมาเป็นตัวสำรอง”

กินแบ่ง ไม่กินรวบ

“แปลว่าเขาเล่นเป็น เล่นเอาเสียงข้างมาก กินแบ่ง ไม่กินรวบ เขาได้ 120-130 คน ของ สว.พอแล้ว ที่เกินมาก็โบนัส ตามแผน”

“ส่วนกลุ่มที่ได้ 20 กว่าคะแนนลงมา ก็จะเป็นสายอุดมการณ์ธรรมชาติ หรือ สว.ประชาชน หลุดเข้าประมาณ ที่ 7-8 คน ซึ่งขอแชร์กลุ่มละประมาณ 2-3 คน ส่วนกลุ่มอื่นสะเปะสะปะ อาจจะหลงมาอันดับ 10 กว่า ไปติดสำรอง บวกกับ สว.สายบ้านป่าไปแล้วด้วย หรือพวกสภาวิชาชีพแท้ ๆ ที่มีกำลังกันก็จะดันเข้าเป็น สว.”

กันนายใหญ่ออกจากวง

แต่ที่ “พลิกล็อก-พลิกโผ” ที่สุด คือกรณี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ตกรอบ สติธรวิเคราะห์ 2 แนว

1.อาจเกิดจากการอ่านเกมผิดจริง ก่อนหน้านี้มักมีการพูดถึงการซื้อ (สว.) หน้างาน แต่วิธีคิดแบบนี้ผิด เพราะมาถึงหน้างานแล้วเจอ สว.ที่แพ็กเป็นทีมเหมือน สว.สีน้ำเงิน เขาไม่ขายหรอก จึงซื้อได้แค่ปลาซิว ปลาสร้อย แปลว่าพลาดจริง อ่านเกมไม่ทะลุ

2.ถ้ามองว่าฉลาดพอ แต่ออกแรงน้อยตั้งแต่แรก อาจพอคิดอีกแบบว่า เขาถูกกันออกไปไม่ให้มายุ่งกับเกมนี้ เพราะเกมนี้เขาต้องการล็อก สว.ไว้เป็นเครื่องมือ และเครื่องมือสำคัญ คือ สว.จะเป็นการช่วยล็อกดีลกับนายใหญ่

“โดยเฉพาะการตั้งองค์กรอิสระ ถ้าปล่อยให้นายใหญ่ไปคุม แล้วจะล็อกดีลอย่างไร จะทำยังไงให้เขาทำตามดีล ก็ต้องเก็บเกมนี้ไว้กับฝ่ายที่ทำเกม ซึ่งฝ่ายที่ทำเกมก็คือฝ่าย สว.สีน้ำเงิน”

“ที่เห็นรายชื่อทหาร ระดับพลเอกก็อยู่ในโผน้ำเงิน แปลว่าสีน้ำเงินทำเกมให้ ส่วน สว.สีแดงก็ถูกกันออก เพราะเกมนี้เราไม่เห็นนายใหญ่แสดงบทบาทอะไร ไม่ค่อยทุ่ม”

“สติธร” เคยวิเคราะห์ 3 กลุ่ม ที่จะเข้ามาวิน คือ กลุ่มการเมือง กลุ่มทุน กลุ่มอำนาจเก่า เมื่อเห็นชื่อครบทั้ง 200 คน เขายังยืนยันแบบเดิม

“ถ้าดูโพยสีน้ำเงิน เป็นกลจักรในการทำเกม แต่รายชื่อของ 100 คนสุดท้าย มีคนที่ขอมา มาจากอำนาจเก่า ข้าราชการเก่า ทหารเก่า รวมถึงนายทุนที่แบ็กพรรคการเมืองอื่นผสมเข้ามา ฝ่ายสีน้ำเงินไม่ได้วาง 100% แต่เดินเกมชัด… ที่เหลือก็จะมาตามธรรมชาติ ก็จะเห็นกลุ่มอื่นเข้ามาบ้าง เพราะเขาไม่กินรวบ เขากินคำใหญ่” สติธรทิ้งท้าย

ภูมิใจไทย สาขา 2

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐประหาร คสช. ไม่ได้ต้องการการออกแบบให้ สว.ชุดใหม่ ที่จะกำเนิดขึ้นในยุคหลังการสิ้นสุดอำนาจของ คสช.นั้น เป็นไปเพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เพราะการแต่งตั้ง สว.ทั้ง 2 ชุดที่ผ่านมาเป็นอำนาจอย่างเต็มที่ที่อยู่ในมือของผู้นำรัฐประหาร 2557 ทั้ง 3 นายพล

และการใช้กฎหมายนี้ เป็นภาพสะท้อนว่า อิทธิพลของคณะรัฐประหาร หรืออาจต้องเรียกกติกาแบบนี้ว่า “ทายาทอสูร” ของ คสช. ยังหลงเหลืออยู่ในการเมืองไทย แม้จะเปลี่ยนสภาพไปกับเงื่อนไขการเมืองในปัจจุบันก็ตาม

เราจึงเห็นได้ถึงความสำเร็จของพรรคการเมือง เพราะ สว.จากสายการเมือง เช่นจาก “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคก้าวไกล” ไม่ชนะ แต่ “พรรคภูมิใจไทย” ชนะอย่างคาดไม่ถึง หรือโดยนัยของผลอีกด้านคือ พรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ไม่ชนะ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรากำลังเห็น “ฐานกำลังใหม่” ในวุฒิสภา หรือ “พรรคภูมิใจไทย สาขา 2” กำเนิดในวุฒิสภา การเมืองไทยจากนี้ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง และมีผลกับรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยอย่างมากด้วย