ด่านสุดท้ายชิงเก้าอี้ 200 สว. เปิด Pattern ล็อก 150 ที่นั่ง

สว.
คอลัมน์ : Politics policy people forum

การเลือกสมาชิกวุฒิสภามาถึง “ด่านสุดท้าย” ระดับประเทศ

ทว่าในแฟ้มลับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเรื่องร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลกว่า 333 เรื่อง

และในเวลาเดียวกัน กกต.ก็จับตาดูความผิดปกติ 4 กลุ่มในการเลือก สว.ระดับประเทศ

1.ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัด มีการต่อรองขอตำแหน่ง หรือเรียกรับผลประโยชน์หลักแสนบาท แลกกับการลงคะแนนเลือกให้เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับประเทศ

2.การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่หนุนหลังผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัด

Advertisment

พยายามเก็บตกผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัดรายอื่น เพื่อให้กลุ่มของตนเองมีผู้มีสิทธิเลือกมากที่สุด

3.พบมีคนกลางจองห้องพักโรงแรมบริเวณใกล้สถานที่เลือก และนัดรวมตัวกันก่อนวันเลือก เพื่อล็อบบี้และเช็กคะแนนเสียง

โดยนำจำนวนเสียงที่รวบรวมได้ไปเรียกรับประโยชน์หลักล้านบาท เพื่อแลกกับการลงคะแนนสนับสนุน

4.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการติดต่อไปยังผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัดในพื้นที่ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มาอยู่กลุ่มตนโดยอ้างว่าจะสนับสนุนให้เป็น สว.

Advertisment

นอกจากข้อมูลลับของ กกต.ที่มีการ “จับตา” ยังมีรายงานว่า พรรคการเมืองใหญ่อย่างน้อย 3 พรรคการเมือง เข้ามาร่วมกระบวนการจัดตั้งส่งคนลงสมัคร สว.

พรรคที่หนึ่ง ออกแรงมากสุด ทุ่มทุน ส่งคน วางเครือข่ายส่งคนเข้าป้ายวุฒิสภาแบบวางตัวตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ไม่พลาดเป้า

พรรคที่สอง ล็อกผู้เล่นเป็นบางจังหวัดให้เข้าป้าย สว.แล้วไปนั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ในวันข้างหน้า ประสานประโยชน์กับนักการเมืองบ้านใหญ่การเมืองจัดตั้งคน ไม่เน้นยิงกระสุน

พรรคที่สาม เคลื่อนไหวด้วยการจัดตั้งคนลงหลายพื้นที่ หวังส่งคนเข้าสภา มีวาระเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระเรือธง

เกมจัดตั้งล็อก 130 เสียง

ย้อนการวิเคราะห์ของ “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า อ่านเกมการ “ล็อก-บล็อก” สว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ ถึงระดับจังหวัด เขาเห็นภาพการ “จัดตั้ง” เป็น Pattern

1.ข้อมูลผู้สมัครแต่ละกลุ่ม มีการมาสมัครเลือก สว.แบบผิดธรรมชาติ เช่น มีคนไหว้วานมาเลือก เพราะในใบสมัคร มีวิธีเขียนประวัติ 5 บรรทัด ที่มีการเขียนแบบเป็น Pattern เดียวกัน

มีการส่งสัญลักษณ์ว่าเป็นพวกเดียวกัน เช่น มีการขึ้นต้น คำลงท้าย เหมือนกัน เป็นการส่งซิกว่าใครพวกใคร

2.ประเภทวางแผน “ลุ่มลึก” คือ อ่านประวัติแล้วสังเกตตรงนี้ว่าคือพวกเรา แม้ กกต.บอกอยู่ว่า ผู้สมัครทุกคนศึกษากันและกันจากเอกสาร

ดังนั้น คนวางแผนก็ต้องส่งซิกผ่านเอกสาร จึงมี Pattern เป็นข้อ ๆ ใส่วงเล็บหน้า วงเล็บหลัง มีหมด รวมถึงการที่ถ่ายรูปสมัครเป็นแบบเดียวกัน ก็เพราะต้องการให้รู้ว่านี่คือพวกกัน ทรงเดียวกันหมด

“เพราะเวลาวางเครือข่ายไม่ใช่เกณฑ์คนเยอะ ๆ มาโหวต แต่ต้องกำหนดเป้าหมายว่าเข้าไปแล้วต้องไปเลือกใคร พอไขว้กลุ่ม ต้องกาใคร กลุ่มที่ไขว้ก็สุ่มด้วย ต้องมีวิธีการ ไม่ให้นั่งจำไปว่า 20 คนต้องกาให้ใครบ้าง และต้องไปจำอีก 19 กลุ่มที่เหลืออีก”

กลุ่มจัดตั้งที่มีบัญชีว่าสุดท้าย 200 คน จะเอากี่คน และเป็นใครบ้าง จากนั้นจะถูกส่งไปตามจุดต่าง ๆ และวางเครือข่ายให้ได้ตามเป้า พาเข้าไปเลือกในระดับประเทศที่อิมแพ็ค อารีน่า และก็ส่งเข้าสู่สภา ได้ตามเป้า”

“เช่น จะเอา สว. 150 คน 150 คนแบ่งกันอย่างไร พรรคการเมืองกี่คน กลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองต้องการกี่คน กลุ่มทุนต้องการกี่คน วางแล้วเรียงรายชื่อมาว่าคือใคร นี่คือผลลัพธ์ที่เราต้องการ จากนั้นไปทำงานเครือข่าย ไปส่งคนนี้เข้ามาเป็น สว.ให้ได้”

อย่างไรก็ตาม ไม่ฟันธงว่าพรรคการเมืองระดับชาติ ล็อกเก้าอี้ สว.ไว้พรรคละกี่เก้าอี้ เพราะขึ้นอยู่กับการวางแผนระดับ Mastermind เขาแบ่งโควตากันอย่างไร แต่น่าจะกะไว้ 150 ที่นั่ง แต่ Priority คือ บล็อกไม่ให้ สว.สีส้ม ได้ถึง 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง เพื่อเข้าไปโหวตแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตัวเลข สว.ของสายจัดตั้งน่าจะอยู่ 130 กว่าที่นั่ง แต่อาจไปถึง 150 เสียง

กลุ่มทุนจะเอาใคร โควตาจากมือที่มองไม่เห็นมีไหม พรรคการเมือง แบ่งกันหลายส่วน ตัวตั้ง พรรคไหนออกแรงเยอะก็จะได้โควตาเยอะ จึงต้องมาทำเกม

หรืออาจไม่ได้โควตาเยอะ แต่ทำเกมเผื่อให้มือที่มองไม่เห็น หรืออีกทางอาจจะมาซื้อปลายน้ำที่เมืองทองฯ

“สุดท้ายโปรไฟล์ของ 200 สว.จะไม่มีใครขี้เหร่ ไม่มีประเภทเอา อสม. ไปเป็น สว. เพราะภารกิจพวกนี้ถึงแค่รอบเลือกระดับจังหวัดก็กลับบ้านกันหมดแล้ว” สติธร วิเคราะห์

การเมืองคุม 2 ใน 3

ด้าน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ในฐานะผู้สมัครที่ “ตกรอบ” เลือกระดับจังหวัด เลือก สว.ระดับอำเภอ วิเคราะห์ว่า มองว่าโฉมหน้า 200 สว. มีปะปนไปทุกแบบ จะว่าเป็นฝ่ายการเมือง เป็นบ้านใหญ่อย่างเดียวไม่ได้

เป็นเหมือน “เกม” ถ้ามุ่งหวังว่าจะชนะต้องวางแผนอย่างไร ผู้สมัครอิสระก็ต้องวางแผน แต่กระจอก ๆ เช่น แลกคะแนนกันเป็นเลเวลต่ำสุด

กับระดับที่สูงกว่านี้คือระดับของการออกแบบ ถ้าเราต้องการเสียงเพียงพอที่จะผ่านแต่ละรอบต้องใช้กี่เสียง ต้องจับกลุ่มให้ได้กี่คน และเสียสละด้วยต้องมีหน่วยกามิกาเซ่ ฆ่าตัวตาย เข้าไปโหวตอย่างเดียว

มี 2 แบบ คือจ้างมาโหวต หรือเห็นควรส่งเสริมใคร ตัวเองก็เสียสละ เป็นภารกิจโหวตรอบแรกในกลุ่มตัวเองในระดับอำเภอ

รอบจังหวัดพัฒนามากขึ้น จะมีการทำโพยถึงขนาดว่า ไม่ว่าจะจับสลากไปเจอกลุ่มไหนก็แล้วแต่ ต้องเลือกคนคนนี้ ทำเป็นกระบวนการที่ทับซ้อนมากขึ้น ทำโพยไว้หมดแล้ว

ไม่ว่าเจอกลุ่มไหนก็แล้วแต่ ถ้าเจอกลุ่มนี้เลือกเบอร์นี้ ถ้าเจออีกกลุ่มเลือกเบอร์นี้ มีการจัดการที่ซับซ้อนมากขึ้น มีทุกกลุ่มที่ลงสมัครในครั้งนี้

ฉากต่อไปว่า หลังการเลือก สว.ระดับประเทศ ฝ่ายจัดตั้งน่าจะชนะฝ่ายผู้สมัครอิสระ เพราะมีกำลังเพียงพอที่จะทำให้ตัวเองเข้าสู่การเลือกรอบลึก ๆ ได้

สมชัย แยกกลุ่ม “จัดตั้ง” แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นสายนักการเมือง พรรคการเมือง บ้านใหญ่

กลุ่มสอง เป็นฝ่ายจัดตั้งของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งวางแผนแบบเดียวกัน ไม่ต่างกันเท่าไหร่

ที่ต่างคือเรื่องการใช้เงิน ใช้ทอง ฝ่ายหลังจะไม่มี ดังนั้นยังคาดการณ์ได้ยากว่า สัดส่วนทั้งสองกลุ่มจะได้กี่ที่นั่ง

สุดท้าย สว.จะอยู่ในมือของฝ่ายไหน “สมชัย” ตอบว่า กลุ่มการเมือง เพราะขณะนี้พรรคการเมืองมีอย่างน้อย 3 พรรค ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก สว.

แม้อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนั้น สัดส่วนกลุ่มการเมืองจะครอบคลุม 2 ใน 3 ของ สว. 200 คน