ไฮไลต์งบประมาณ 68 ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ 2.59 หมื่นล้าน

budget
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ คือโจทย์ใหญ่การเมืองของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพราะยังมีคดีค้างอยู่ในชั้นศาลที่สามารถ “พลิกชะตา” รัฐบาลได้ภายในพริบตา

ทั้งเรื่องสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน”

คดีการยุบพรรคก้าวไกล ไม่ว่าผลเป็นบวก เป็นลบ ย่อมส่งเอฟเฟ็กต์การเมืองได้หลายฉากทัศน์

ขณะที่องค์กรตรวจสอบ “อำนาจรัฐ” อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มีส่วนในการ “กำหนดเกม” ทางการเมือง รวมถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ทนายแผ่นดิน”

ในวาระที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงินกว่า 3,752,700,000,000 บาท ผ่านชั้นรับหลักการ

Advertisment

ต่อไปนี้คือคำเสนอของบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด และ 5 องค์กรอิสระ หน่วยงานชี้ชะตาการเมือง ซึ่งทำคำเสนอของบประมาณรวมกันถึง 25,901,847,500 บาท

ศาลของบฯ 388 ล้าน

ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในหมวดศาล ได้เสนอจัดสรรงบฯทั้งสิ้น 388,873,900 บาท แบ่งเป็น งบฯบุคลากร 206,438,500 บาท งบฯแผนงาน 182,435,400 บาท แบ่งเป็น 4 แผนงาน

1.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 161,642,800 บาท แผนการอำนวยการวิเคราะห์และวินิจฉัยคำร้องคดีรัฐธรรมนูญ

2.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 10,792,600 บาท เป็นโครงการการจัดการประชุมนานาชาติเนื่องในโอกาสการเป็นประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6

Advertisment

3.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 7,000,000 บาท เป็นแผนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความยุติธรรม

4.แผนงานยุทธศาสตร์ พัฒนากฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 3,000,000 บาท มีผลผลิตคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยยึดหลักนิติธรรม ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และโครงการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามหลักนิติธรรม

องค์กรอิสระ-อัยการ 2.5 หมื่นล้าน

องค์กรอิสระและองค์กรอัยการ เสนอจัดสรรรับงบประมาณรายจ่ายปี’68 รวมกัน 25,512,973,600 บาท แบ่งเป็น

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับงบประมาณ 3,105,623,200 บาท เป็นงบฯบุคลากร 2,086,197,900 บาท เป็นงบฯแผนงาน 1,019,425,300 บาท แบ่งได้เป็น 3 แผนงาน 1.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 878,692,900 บาท

2.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 102,914,300 บาท

แบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการ (Thailand Smart e-Audit : TSEA) 2.โครงการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 3.โครงการแพลตฟอร์มการตรวจเงินแผ่นดิน

3.แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 37,818,100 บาท แบ่งเป็น 2 โครงการ 1.โครงการเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ โครงการที่ 2.โครงการเสริมสร้างให้หน่วยงานของรัฐรักษาวินัยการเงิน การคลังของรัฐ

กราฟฟิก งบประมาณ68

กกต. 3 พันล้าน

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอขอจัดสรรงบฯ 3,158,417,100 บาท แยกเป็นงบฯบุคลากร 1,844,036,500 บาท งบฯแผนงาน 1,314,380,600 บาท แบ่งเป็น 2 แผนงาน

1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ขอรับงบฯ 1,142,468,000 บาท มีตัวชี้วัดเป็นการจัดการเลือกตั้งคุณภาพ

2.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 171,912,600 บาท มีผลผลิตคือ : ความเข้มแข็งของเครือข่ายและมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง, ให้ความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสร้างเสริมความเป็นพลเมืองคุณภาพ รวมถึงการจัดการเลือกตั้งคุณภาพและการบริการดิจิทัล

ป.ป.ช.ขอ 4 พันล้าน

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอรับงบฯ 4,420,727,500 บาท แบ่งเป็นงบฯบุคลากร 2,002,842,500 บาท และงบฯแผนงาน 1,893,505,300 บาท เป็นงบฯแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐทั้งหมด

โดยมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ อาทิ ระดับความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของ ป.ป.ช., สัดส่วนประชาชนมีวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อประชาชนทั้งหมด

กรรมการสิทธิฯ 329 ล้าน

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอจัดสรรงบฯ 329,280,200 บาท แยกเป็นงบฯบุคลากร 194,860,200 บาทงบฯแผนงาน 132,613,000 บาท แบ่งแผนงานเป็น 4 แผน 1.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 72,472,200 บาท 2.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 16,512,300 บาท 3.แผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม 36,954,000 บาท 4.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 6,674,500 บาท

ผู้ตรวจการฯ ขอ 449 ล้าน

สำนักงานตรวจการแผ่นดิน ขอรับงบฯ 449,200,100 บาท แบ่งเป็นงบฯบุคลากร 307,728,300 บาท งบฯแผนงาน 137,015,100 บาท มี 2 แผน

1.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 126,287,900 บาท

2.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 10,727,200 บาท

ทนายแผ่นดิน 1.4 หมื่นล้าน

สำนักงานอัยการสูงสุด ขอจัดสรรงบฯรวม 14,049,725,500 บาท เป็นงบฯบุคลากร 8,605,708,900 บาท ขณะที่งบฯแผนงาน 5,444,016,600 บาท

1.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 5,232,055,300 บาท เพื่ออำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิประชาชน

2.แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 211,961,300 บาท มีผลผลิตคือ การสนับสนุนการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอำนวยความยุติธรรมและการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ