เปิดงบประมาณ 2568 ใช้กับอะไรบ้าง หน่วยงานไหนได้งบฯ มากที่สุด

Srettha Government Budget Expenditure 2025 งบประมาณ งบประมาณรายจ่าย 2568

เปิดรายละเอียดร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ใช้กับงบประมาณด้านไหนบ้าง และกระทรวง-หน่วยงานไหน ได้งบประมาณมากที่สุด

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (19 มิ.ย. 2567) จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2567 มีวาระการพิจารณาสำคัญ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ ในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลการของบประมาณว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2567 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ

ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายละเอียด งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

Advertisment

ฐานะการคลัง-หนี้สาธารณะประเทศไทย เป็นอย่างไร ?

  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
  • ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท
  • ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี
  • มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

ทั้งนี้ กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดไว้ว่า หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

งบประมาณเพื่อลงทุน สูงสุดรอบ 17 ปี

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกรายละเอียดได้ ดังนี้

  • รายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท (ร้อยละ 72.1)
  • รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท (ร้อยละ 24.2) เป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี
  • รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท (ร้อยละ 4.0)

ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท

Advertisment

มองงบประมาณ ตามกลุ่มรายจ่าย-ยุทธศาสตร์ฯ

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย 6 กลุ่ม ดังนี้

  1. งบประมาณรายจ่ายงบกลาง กำหนดไว้เป็นจำนวน 805,745.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของวงเงินงบประมาณ
  2. งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ กำหนดไว้เป็นจำานวน 1,254,576.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.4 ของวงเงินงบประมาณ
  3. งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กำหนดไว้เป็นจำนวน 206,858.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของวงเงินงบประมาณ
  4. งบประมาณรายจ่ายบุคลากร กำหนดไว้เป็นจำนวน 800,969.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.4 ของวงเงินงบประมาณ
  5. งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน กำหนดไว้เป็นจำนวน 274,296.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ
  6. งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กำหนดไว้เป็นจำนวน 410,253.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9 ของวงเงินงบประมาณ

 

และเมื่อจำแนกงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 ตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 7 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 405,412.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8
  2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6
  3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5
  4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 923,851.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.6
  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7
  6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2
  7. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6

 

กระทรวง-หน่วยงานไหน ได้งบฯ มากที่สุด

สำหรับงบประมาณของแต่ละกระทรวงและหน่วยรับงบประมาณ ทั้ง 30 หน่วยงาน ในปีงบประมาณ 2568 เทียบกับปีงบประมาณ 2567 เป็นดังนี้

หน่วยรับงบประมาณ ปีงบประมาณ 2568 (บาท) ปีงบประมาณ 2567 (บาท) เพิ่มขึ้น/ลดลง (บาท)
กระทรวงมหาดไทย 231,861,408,300 290,098,048,900 -58,236,640,600
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 195,333,893,200 100,655,847,900 94,678,045,300
กระทรวงศึกษาธิการ 127,186,773,600 122,508,564,600 4,678,209,000
กระทรวงกลาโหม 92,629,825,000 85,398,193,600 7,231,631,400
กระทรวงคมนาคม 83,545,880,400 65,684,327,100 17,861,553,300
รัฐวิสาหกิจ 69,931,862,800 65,434,273,100 4,497,589,700
กระทรวงแรงงาน 63,600,949,200 58,098,312,200 5,502,637,000
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 56,297,406,700 53,879,351,700 2,418,055,000
กระทรวงสาธารณสุข 53,417,886,600 48,852,436,700 4,565,449,900
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 49,248,592,900 46,344,499,300 2,904,093,600
ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 43,602,295,000 35,434,895,500 8,167,399,500
สำนักนายกรัฐมนตรี 26,284,660,600 24,124,617,500 2,160,043,100
จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 24,042,399,800 23,031,750,100 1,010,649,700
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 23,105,056,400 21,767,133,300 1,337,923,100
กระทรวงยุติธรรม 15,573,435,800 13,218,785,500 2,354,650,300
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15,327,771,800 15,025,964,400 301,807,400
กระทรวงการคลัง 12,932,891,700 11,507,048,700 1,425,843,000
หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 9,940,955,900 8,848,475,400 1,092,480,500
สภากาชาดไทย 9,178,645,600 8,867,485,700 311,159,900
หน่วยงานของศาล 8,773,754,700 7,961,884,300 811,870,400
ส่วนราชการในพระองค์ 8,475,000,000 8,478,383,000 -3,383,000
กระทรวงวัฒนธรรม 6,191,632,000 4,328,628,700 1,863,003,300
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5,872,760,600 5,347,054,800 525,705,800
กระทรวงการต่างประเทศ 4,937,490,000 4,863,050,800 74,439,200
กระทรวงพาณิชย์ 4,596,056,500 4,025,717,700 570,338,800
หน่วยงานของรัฐสภา 3,626,285,900 2,877,448,900 748,837,000
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 3,617,851,300 2,886,963,900 730,887,400
กระทรวงอุตสาหกรรม 3,147,733,200 2,174,828,000 972,905,200
กระทรวงพลังงาน 1,997,952,700 1,856,241,900 141,710,800
หน่วยงานอื่นของรัฐ 297,716,800 282,029,100 15,687,700

 

เตรียมงบฯ ฉุกเฉิน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ แบ่งเป็น

  • แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 248,800.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง
  • แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

รายได้ ปีงบประมาณ 2568 มาจากไหน ?

งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้