เปิดเอกสารลับที่สุด กฤษฎีกาตอบคุณสมบัติ “พิชิต” เป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่

เปิดเอกสารลับ พิชิต ชื่นบาน ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี หรือไม่

เปิดเอกสาร สำนักงานกฤษฎีกา ตอบเรื่องคุณสมบัติ พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่ก่อนการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1”

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีกลุ่ม สว.จำนวน 40 คนร่วมลงชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่

ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องนี้ โดยผู้สื่อข่าวถามว่า การแต่งตั้งเมื่อนายพิชิตถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำใช่หรือไม่ ว่า “ครับ ผมมั่นใจ คิดว่าทำถูกต้อง ด้วยความบริสุทธิ์ใจครับ”

ทั้งนี้ การสอบถามเรื่องคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน ว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่น้้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบคำถามนี้ไว้ตั้งแต่กระบวนการเสนอชื่อรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” ซึ่งในขณะนั้นมีรายงานข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อนายพิชิต แต่ในที่สุดราชกิจจานุเบกษาประกาศรายชื่อ “ครม.เศรษฐา 1” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 ไม่ปรากฏรายชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี แต่ได้รับการเสนอชื่ออีกครั้งใน “ครม.เศรษฐา 1/1”

สำหรับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรของสำนักงานกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 มีข้อความดังนี้

Advertisment

จากกรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ตอบกลับไปยังเลขาธิการคณะรัฐนตรี โดยมีเนื้อหาระบุว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7)

กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”

Advertisment

ดังนั้น การได้รับโทษจำคุก ไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น

เอกสารย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า “อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 160 เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี มีดังนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186
หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง