บริบทที่เปลี่ยนไป

property
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลโดยผ่อนปรนเงื่อนไขการครอบครองอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนต่างชาติถือเป็น “เรื่องร้อน” เรื่องหนึ่งในทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินจาก 30 ปี เป็น 99 ปี
หรือการขยายสัดส่วนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมจาก 49% เป็น 75%

ถามว่าทำไมถึงเลือกใช้มาตรการนี้ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวทางการเมือง

คำตอบง่าย ๆ ก็คือเป็นมาตรการที่ง่ายที่สุดในการเพิ่ม “กำลังซื้อ” อสังหาริมทรัพย์ ที่นับวันจะเหือดแห้งลงทุกที

ไม่ใช่เพราะคนไทยไม่ต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ

Advertisment

ดีมานด์หรือความต้องการนั้นสูงมาก

แต่ติดเงื่อนไขสำคัญคือแบงก์ไม่ปล่อยกู้ หรือยื่นกู้แล้วไม่ผ่าน

เพราะคนกู้ส่วนใหญ่มีภาระหนี้ครัวเรือน

อยากจะซื้อบ้านก็ต้องกู้แบงก์

Advertisment

แต่เจอดอกเบี้ยสูง อัตราการผ่อนต่อเดือนก็สูงขึ้น

สัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นทำให้กู้แบงก์ไม่ผ่าน

รัฐบาลชนกับแบงก์ชาติมาตลอดเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รัฐบาลอยากให้ลดลง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯตอนสิ้นปีที่แล้วยังดีอยู่

แต่ไตรมาสแรกกำไรลดวูบเลยครับ

คาดว่าไตรมาสสองก็น่าจะไม่แตกต่างกัน

ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ อาการน่าจะหนัก

นั่นคือ เหตุผลที่รัฐบาลต้องลงมาช่วย

แต่ก็มีคนแย้งว่า ธุรกิจอื่นก็ย่ำแย่เหมือนกัน หนักหนาสาหัสกว่าอีก ทำไมรัฐบาลไม่ช่วย

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่งมีปัญหากำไรลดลงแค่ไตรมาสเดียวเอง

แบบนี้เลือกปฏิบัติหรือเปล่า

ในทางการเมือง คุณเศรษฐา ทวีสิน ที่เคยบริหาร “แสนสิริ” มา ก็คงต้องโดนโจมตีอย่างแน่นอน

แต่การช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ 
คือ การเพิ่มดีมานด์ในตลาด

เพราะประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนหลายประเทศ

โดยเฉพาะจีน รัสเซีย เมียนมา ฯลฯ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ถ้ามาตรการนี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ความรู้สึกของสังคมก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

แต่วันนี้ภาคธุรกิจและกระแสสังคมเริ่มกลัวการรุกคืบของ “ทุนจีน”

การผ่อนปรนแบบนี้จะยิ่งเปิดทางให้จีนเข้ามาครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินในเมืองไทยได้ง่ายขึ้น

ขนาดยังไม่แก้กฎหมาย ก็ยังใช้ “นอมินี” เข้ามาครอบครองเต็มไปหมด

ถ้าเป็นประเทศอื่นยังไม่น่าห่วงเท่ากับจีน

เพราะวิธีคิดในการทำธุรกิจของจีนนั้นแตกต่างจากญี่ปุ่น หรือประเทศแถบยุโรป ที่เราคุ้นเคย

ประเทศอื่นเขากินแบ่ง

แต่ทุนจีนนั้นทำธุรกิจครบวงจร กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ

อย่างที่เมืองจันท์ ตอนนี้ล้งจีนเต็มไปหมด

และมีบางคนเริ่มรุกสู่ “ต้นน้ำ” ด้วยการซื้อสวนทุเรียนผ่านนอมินี

ถ้ารัฐบาลเปิดกว้างให้เช่าที่ดิน 99 ปีได้

รับรองสวนทุเรียนเปลี่ยนมือแน่

หรืออย่างทัวร์จีนก็เช่นกัน

ผมเคยหลงเข้าไปโรงแรมขนาดใหญ่ที่รับนักท่องเที่ยวจีนแถวลาดกระบังครั้งหนึ่ง

จะแวบไปเขียนต้นฉบับในล็อบบี้โรงแรม

เดินเข้าไป พนักงานตกใจเลย เพราะไม่คิดว่าจะมีลูกค้าวอล์กอินเข้ามา

ทุกคนพูดภาษาจีน มีบางคนพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย

โรงแรมนี้เป็นของทุนจีนครับ

ไม่แปลกที่สมาคมโรงแรมจะออกมาคัดค้านเรื่องสัดส่วนต่างชาติที่จะขยายจาก 49% เป็น 75%

เพราะเขากลัวว่าจีนจะมาซื้อทั้งตึกและปล่อยเช่านักท่องเที่ยวแข่งกับโรงแรม

ถามว่าเป็นไปได้ไหม

ตอบได้เลยครับว่า เป็นไปได้

หรือธุรกิจรถยนต์อีวีก็เช่นกัน มีคนในแวดวงบอกว่า อะไรที่ขนมาจากเมืองจีนได้ เขาขนมา

ป้ายหน้าโชว์รูมของบางค่ายยังสั่งทำจากเมืองจีนเลยครับ

ไม่แปลกที่กระแสกลัวทุนจีนตอนนี้เริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ครับ ถ้ามาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน

ในวันที่กระแสกลัวทุนจีนไม่แรงขนาดนี้

คนคงคัดค้านไม่มากนัก

แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนตาม

ถ้ารัฐบาลจะทำจริง ๆ ก็ตั้งรับดี ๆ นะครับ