ปิดโรงงาน-ปิดโรงเรียน เทรนด์ใหม่เศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ในภาวะเซื่องซึม แม้บางธุรกิจจะสามารถเติบโตต่อเนื่อง

แต่โดยรวมของกำลังซื้อภาคส่วนต่าง ๆ ถดถอย และซึมลึก จนทำให้เกิดภาวะขาดความเชื่อมั่น ทั้งของภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ไม่กล้าจับจ่าย ไม่กล้าลงทุน

ขณะที่นักลงทุนตลาดหุ้นก็เกิดภาวะ “ท้อแท้-สิ้นหวัง” จากภาวะซึมเศร้าของตลาดทุนมูลค่าการซื้อขายร่วงหนัก และช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยเกือบแสนล้านบาท

แม้ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯและสำนักงาน ก.ล.ต. แถลงข่าว “มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน” หวังฟื้นความเชื่อมั่น เคาะเกณฑ์กองทุน TESG ใหม่ ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท ถือครอง 5 ปี พร้อมกับฟื้นแนวคิด “กองทุนรวมวายุภักษ์” วงเงิน 1.5 แสนล้าน เพื่อทำหน้าที่กองทุนพยุงหุ้น

ถือว่าเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี น่าจะกระตุ้นดีมานด์ของนักลงทุนในประเทศได้บ้าง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทย เพราะต่างชาติมองที่ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและการขยายตัวของจีดีพีไทย

Advertisment

ขณะที่บรรยากาศการค้า การลงทุนจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็ดูหงอยเหงา ผลจากกำลังซื้อในประเทศไทยที่ถดถอย ที่รัฐบาลก็ฝากทุกความหวังทั้งหมดไว้กับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่ปักธงว่าจะแจกเงินให้ประชาชนใช้จ่ายในไตรมาส 4/67

แต่ยังมีคำถามว่าจะสามารถแจกเงินได้ตามแผนหรือไม่

เพราะล่าสุดได้รับการยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่า “ระบบชำระเงิน” ที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชน 50 ล้านคน ใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลตที่รัฐบาลระบุว่าจะใช้เทคโนโลยี Open Loop ให้สถาบันการเงินเชื่อมต่อกับแอปทางรัฐ เวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนตกลงข้อกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ

แม้แต่สถาบันการเงินก็ไม่มั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาระบบรองรับการใช้งานอย่างมีเสถียรภาพและปลอดภัย ได้พร้อมในไตรมาส 4 หรือไม่

Advertisment

ดังนั้นเป้าหมายการเพิ่มกำลังซื้อ สร้างพายุหมุนเศรษฐกิจจากดิจิทัลวอลเลต จะสามารถเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่

ขณะที่ตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็กำลังเกิดปรากฏการณ์กระแส “ปิดโรงงาน” หรือปิดกิจการธุรกิจต่าง ๆ ที่ทยอยให้เห็นมากขึ้น

ทั้งที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่อย่างล่าสุด โรงงานผลิตรถยนต์สองราย คือ “ซูบารุ” และ “ซูซูกิ” ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ประกาศว่าจะยุติการผลิตโรงงานในไทย ด้วยยอดขายในประเทศไทยที่ลดลง หลังจากกระแสรถอีวีจีน เข้ามาถล่มตลาด

และก่อนหน้านี้ก็มีการปิดกิจการของโรงงานเหล็กในประเทศ หลังจากที่มีเหล็กจีนเข้ามาตีตลาด

ขณะที่ KKP Research ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ออกรายงานวิจัยถึงแนวโน้มโรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการที่เร่งตัวขึ้นชัดเจน โดยไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขปิดกิจการเฉลี่ยอยู่ที่ 159 แห่งต่อเดือน เรียกว่าขยับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2565 ตัวเลขปิดโรงงานเฉลี่ย 83 แห่งต่อเดือน

โดยนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 (ระยะเวลา 15 เดือน) มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ขณะที่ตัวเลขการ “เปิด” โรงงานใหม่ลดลงกว่าในอดีต

และมีประเด็นน่าสังเกตว่า โรงงานที่ปิดตัวส่วนใหญ่เป็น “โรงงานขนาดใหญ่” แต่โรงงานที่มีการเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็น “โรงงานขนาดเล็ก”

นอกจากปรากฏการณ์ “ปิดโรงงาน” อีกปรากฏการณ์ที่เห็นมากขึ้น คือ การ “ปิดโรงเรียน”

เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ก็ลดลง ถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่กระทบเป็นลูกโซ่ และอันดับแรก ๆ ก็คือ โรงเรียนที่ประสบปัญหาจำนวนนักเรียนน้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน

เช่น ล่าสุด โรงเรียนราชินีมูลนิธิ (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ในเครือราชินี ที่ขยายฐานในพื้นที่ EEC คาดหวังจะรองรับความต้องการนักลงทุนในพื้นที่ แต่ก็ประสบปัญหาไม่มีนักเรียน และทราบว่ามีอีกหลาย ๆ โรงเรียนก็เผชิญความท้าทายนี้เช่นกัน