เปิดประวัติ กลุ่มธนบุรีพานิช เบนซ์ต่อสัญญาประกอบรถ EV อีก 10 ปี

Benz Thonburi Phanich Group เบนซ์ ธนบุรีพานิช กลุ่มธนบุรีพานิช
ภาพจาก กลุ่มธนบุรีพานิช (Thonburi Phanich Group)

เปิดประวัติ กลุ่มธนบุรีพานิช หนึ่งในดีลเลอร์ใหญ่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในไทย หลังเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ต่อสัญญา “ธนบุรีประกอบรถยนต์” ประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ระยะเวลา 10 ปี

จากที่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด อีก 10 ปี ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่มีบทบาทในการประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV เพื่อสานต่อแผนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์

เรื่องราวของ “ธนบุรีประกอบรถยนต์” บริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ เป็นเพียงหนึ่งจิ๊กซอว์เล็ก ๆ ของหนึ่งในดีลเลอร์ ผู้จำหน่ายรถเบนซ์ในไทย อายุกว่า 8 ทศวรรษ ที่มีชื่อว่า “ธนบุรีพานิช”

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักผู้ผลิตและจำหน่ายรถเบนซ์รายนี้ให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้น “ธนบุรีพานิช”

บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2484 เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการนำเข้า-ส่งออก และจัดจำหน่ายรถหลากหลายยี่ห้อ เช่น Chrysler, Nash, Desoto, Hillman, Humber และ Renault

Advertisment

ปี 2492 เล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อาเซียพาณิชยการ จำกัด (บมจ.วิริยะประกันภัย ในปัจจุบัน) เข้ารับซื้อกิจการทั้งหมดของ “ธนบุรีพานิช” จากนั้นได้ติดต่อไปยังเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่เยอรมนีเพื่อขอเป็นตัวแทน จำหน่าย

จากนั้น ในปี 2493 บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และเครื่องยนต์ดีเซล แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย จากบริษัท เดมเล่อร์-เบนซ์ เอจี เนื่องจากบริษัทแม่ เห็นความตั้งใจในความกล้าในการลงทุนสร้างเครือข่ายการขายและการบริการหลังการขายอย่างจริงจัง

และในปี 2500 ธนบุรีพานิช ได้รับการขยายสิทธิเป็นตัวแทน ครอบคลุมถึงการให้บริการรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถเพื่อการพาณิชย์อย่างเป็นทางการ จากเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี (ในขณะนั้น)

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์ สัญลักษณ์ดาวสามแฉก ที่เลื่องลือและบ่งบอกถึงตัวตนของผู้ครอบครองชาวไทย และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกลุ่มธนบุรีพานิช จนถึงปัจจุบัน

Advertisment

เกร็ดความรู้ : การเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท “อาเซียพาณิชยการ” เป็น “วิริยะประกันภัย” ที่คุ้นเคยในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อสอดคล้องกับบริษัทเดิมคือ บริษัท วิริยะพานิช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันทาไม้ตราปลาตะเพียน และยาแก้ไอวิริยะ

ลุยธุรกิจประกอบรถ รับดีมานด์สั่งรถพาณิชย์สูงขึ้น

ปี 2503 เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ แห่งธนบุรีพานิช ก่อตั้ง “บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด” เพื่อรับกับโอกาสที่ความต้องการสั่งซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในช่วงนั้นสูงขึ้น ทั้งเพื่อการขนส่งสินค้า หรือเพื่อการเดินทาง โดยกิจการในยุคแรก เน้นการประกอบรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แชสซีรถยนต์โดยสาร ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล และต่อเติมตัวรถ

และดำเนินกิจการบนพื้นที่ที่ดินของบ้านวิทยุ ถนนพระราม 4 (โชว์รูมและศูนย์บริการ เมอร์เซเดส-เบนซ์ สาขาลุมพินี-สาทร ในปัจจุบัน) ก่อนจะสร้างโรงงานประกอบรถยนต์นั่ง (โรงงานประกอบแห่งที่ 1) ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2513

จากความไว้ใจ สู่การเติบโต

ปี 2522 “ธนบุรีประกอบรถยนต์” โรงงานประกอบรถยนต์ของคนไทย ได้รับอนุญาตให้ประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยเริ่มประกอบรถยนต์จากโรงงาน 1 ในจังหวัดสมุทรปราการ และรุ่นแรกหลังได้รับอนุญาตให้ประกอบรถจากประเทศไทย คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ W123

เวลาต่อมา ปี 2537 ได้สร้างโรงงานประกอบรถยนต์นั่ง โรงใหม่ (โรงงานประกอบแห่งที่ 2) และเริ่มประกอบรถยนต์จากโรงงานประกอบแห่งที่ 2 เมื่อปี 2539

และเมื่อปี 2559 บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ร่วมลงนามสัญญาในการประกอบรถยนต์ พร้อมประกาศความสำเร็จจากการประกอบรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย ครบ 100,000 คัน

แต่ความสำเร็จในการประกอบรถ ไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อปี 2560 ธนบุรีพานิช ก่อตั้งบริษัทใหม่ “บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM)” เพื่อผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ (แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน) สำหรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ให้กับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ แห่งเดียวในประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 ของโรงงานผลิตแบตเตอรี่เมอร์เซเดส-เบนซ์

และในช่วงปี 2565 TESM ได้เริ่มต้นประกอบรถยนต์ไฟฟ้า EQS 500 4MATIC AMG Premium ซึ่งเป็นรถยนต์ EV รุ่นแรกของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ประกอบจากโรงงานในประเทศไทย พร้อมทั้งได้เริ่มประกอบรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ S 450 4MATIC Long Wheelbase รถพวงมาลัยซ้าย ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม

จากประสบการณ์ด้านการประกอบรถยนต์ที่ยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ได้ลงนามร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.) และ FOTON Motor Group ผู้ผลิตและส่งออกรถบรรทุกและรถบัสของจีน เพื่อจัดตั้งโรงงานประกอบและผลิตรถบรรทุก FOTON ในไทย ภายใต้ชื่อ บริษัท ธนบุรีคอมเมอร์เชียลวีฮิเคิลแอสเซมบลี จำกัด (TCVA)

ทั้งนี้ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ทำหน้าที่ประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในปัจจุบัน มากถึง 13 รุ่น คือ A-Class, C-Class, E-Class, S-Class, GLA, GLC, GLE, GLS, C-Coupe, GLC-Coupe, CLS, Maybach S-Class และ EQS โดยได้ประกอบรถยนต์ครบ 200,000 คัน เมื่อมกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ต่อสัญญา 10 ปี ขยายฐานผลิตรถ EV

นายมาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด อีก 10 ปี ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่มีบทบาทในการประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ขณะที่ นายรัฐพล วิริยะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ขยายไลน์การประกอบรถยนต์ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทางธนบุรีฯ ยังรองรับการผลิตแบตเตอรี่และการประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผ่านโรงงานของบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM)

นายรัฐพลกล่าวอีกว่า ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพโรงงานและศักยภาพของบุคลากรให้ลูกค้าทุกคนมั่นใจในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสร้างตำนานบทใหม่ให้กับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทยต่อไป

เปิดผลประกอบการ “กลุ่มธนบุรีพานิช”

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ผลประกอบการของ 4 บริษัทในกลุ่มธนบุรีพานิช คือ บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด, บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด, บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท ธนบุรีคอมเมอร์เชียลวีฮิเคิลแอสเซมบลี จำกัด เป็นดังนี้

บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด

บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2484 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 8,000,000 บาท มีวัตถุประสงค์ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ศูนย์บริการซ่อมรถยนต์

ปัจจุบันมีโชว์รูม-ศูนย์บริการ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งหมด 4 แห่ง คือ อาคารวิริยะพันธุ์ (สำนักงานใหญ่และศูนย์บริการ) ลุมพินี (ฝ่ายขายและศูนย์บริการ) ราชดำเนิน (ศูนย์บริการ) และงามวงศ์วาน (ฝ่ายขายและศูนย์บริการ)

ปี 2562

  • รายได้รวม 5,933,412,351.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 5,885,400,464.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 9,635,752.00 บาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 3,809,245,590.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 3,829,633,165.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 43,009,279.00 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 4,461,906,172.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 4,403,069,928.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 38,534,987.00 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 5,049,066,523.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 4,970,286,133.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 64,953,304.00 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 3,983,325,245.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 3,968,905,441.00 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 11,742,730.00 บาท

บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด

บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2503 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 270,000,000 บาท มีวัตถุประสงค์ ประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ปัจจุบันโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ บริเวณพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

ปี 2562

  • รายได้รวม 2,429,308,014.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,221,469,739.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 940,053,740.00 บาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 2,277,003,154.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,020,939,714.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,010,184,502.00 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 2,299,205,778.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,125,384,179.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 933,400,930.00 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 2,916,417,347.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,235,403,279.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,429,227,581.00 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 2,339,019,654.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,245,917,407.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 927,540,166.00 บาท

บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด

บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 200,000,000 บาท มีวัตถุประสงค์ ผลิตแบตเตอรี่และหม้อสะสมไฟฟ้า

ปัจจุบันโรงงานธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ใกล้บริเวณพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เช่นเดียวกับ โรงงานของธนบุรีประกอบรถยนต์

ปี 2562

  • รายได้รวม 346,251,579.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 330,486,786.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 3,197,325.00 บาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 997,280,112.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 866,733,123.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 110,112,006.00 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 1,212,006,842.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 847,208,125.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 350,808,491.00 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 1,398,426,649.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,005,967,359.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 372,836,816.00 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 1,696,484,020.00 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,460,593,661.00 บาท
  • กำไรสุทธิ 218,734,047.00 บาท

บริษัท ธนบุรีคอมเมอร์เชียลวีฮิเคิลแอสเซมบลี จำกัด

บริษัท ธนบุรีคอมเมอร์เชียลวีฮิเคิลแอสเซมบลี จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 5,000,000 บาท มีวัตถุประสงค์ โรงงานประกอบรถยนต์เพื่อทำการผลิต ต่อและประกอบรถยนต์ ตัวถังทุกประเภท

บจก.ธนบุรีคอมเมอร์เชียลวีฮิเคิลแอสเซมบลี เป็นความร่วมมือระหว่าง กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์, FOTON Motor Group และบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เพื่อดำเนินการผลิตรถบรรทุก FOTON ในประเทศไทย ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ถ.บางนา-ตราด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท

โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและประกอบรถบรรทุก FOTON ได้ภายในกลางปี 2567 โดยใน 5 ปีแรก โรงงานจะสามารถผลิตรถเข้าสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 6,000 คัน (ข้อมูลจาก CP FOTON)

ปี 2566

  • รายได้รวม 2,272.57 บาท
  • รายจ่ายรวม 1,101,497.83 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 1,099,225.26 บาท

ข้อมูลจาก กลุ่มธนบุรีพานิช (ประวัติ, ชีวประวัติผู้ก่อตั้ง)