ธุรกิจโรงพยาบาลเดือด งัดสงครามราคาชิงคนไข้ในประเทศ

โรงพยาบาล สุขภาพ

ธุรกิจโรงพยาบาลเหนื่อยข้ามปี โควิด-19 ตามหลอน คนไข้ ตปท.ยังไม่กลับ เปิดศึกแย่งคนไทย งัดราคาจูงใจ หวังรักษาฐาน-ดึงคนไข้ใหม่ ขยับตัวบุกธุรกิจน็อนฮอสพิทอลสร้างรายได้ชดเชย “ธนบุรี-รามคำแหง” หนีการแข่งขันสูง-เติบโตต่ำ บุกซีแอลเอ็มวี ขณะที่ “เกษมราษฎร์” เตรียมตัดริบบิ้นสาขาเวียงจันทน์ ต้นไตรมาส 2

ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3/2563 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นไตรมาส 4 แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่เริ่มคลี่คลาย ประชาชนคลายความตื่นกังวล ประกอบกับโรงพยาบาลต่าง ๆ เร่งสร้างความเชื่อมั่นและมีการทำการตลาดอย่างหนักหน่วง เพื่อจูงใจและดึงคนไข้ให้กลับเข้าไปใช้บริการ

แต่ดูเหมือนว่าการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าว่า จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ธุรกิจโรงพยาบาลจะมีการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น

รพ.เอกชนเหนื่อยข้ามปี

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเรื่องวัคซีน จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2564 โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เน้นการพึ่งพารายได้จากกลุ่มคนไข้ชาวต่างประเทศที่ยังคงไม่มีความแน่นอน และจากการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ชาวต่างประเทศอาจจะซึมยาวไปอีก 5-6 เดือน ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นคนไข้ในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่มีเป็นจำนวนมาก และจะมีแห่งใหม่ทยอยเปิดให้บริการเป็นระยะ ๆ ประกอบกับปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงภาวะการตกงานที่มีเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มคนไข้ต่างประเทศยังไม่กลับมา ทุกค่ายก็จะต้องหันมาชิงกลุ่มคนไข้ในประเทศอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันเรื่องราคารุนแรงขึ้นในหลากหลายรูปแบบ เพื่อจูงใจทั้งในแง่ของการรักษาฐานลูกค้าเดิมและดึงลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาเสริม รวมทั้งการสร้างพันธมิตรเครือข่ายในการส่งต่อคนไข้ที่จะมีให้เห็นมากขึ้น

Advertisment

เช่นเดียวกับการพยายามหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ เข้ามาเสริม เช่น การให้ความสำคัญกับธุรกิจน็อนฮอสพิทอลมากขึ้น เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาหารเสริม เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ชดเชยอีกทางหนึ่ง อีกด้านหนึ่งสิ่งที่โรงพยาบาลจะยังให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายหรือการดำเนินการต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมาที่มีการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการทำงานล่วงเวลา (โอที) การลดแพทย์-พยาบาลพาร์ตไทม์ จากจำนวนคนไข้ที่ลดลง เป็นต้น

“สำหรับในปี 2563 จากผลกระทบของปัจจัยทางเศรษฐกิจและโควิด-19 คาดว่าจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ในภาวะที่ทรงตัว หรือมีอัตราการเติบเป็นเลขหลักเดียวต้น ๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปี จากก่อนหน้านี้ที่เคยโตเป็นดับเบิลดิจิต และลดลงมาเหลือ 6-8% เมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา”

เปิดศึกแย่งลูกค้าคนไทย

นายแพทย์พิชญ สมบูรณสิน กรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มคนไข้และผู้ใช้บริการต่างชาติลดลงมาก โรงพยาบาลที่พึ่งพาคนไข้ต่างชาติเป็นสัดส่วนที่มาก จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับคนไข้ภายในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลใหม่จากธุรกิจอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ จึงทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น และในปี 2564 การกลับเข้ามาของต่างชาติอาจจะยังไม่เต็มร้อย การแข่งขันในการดึงคนไข้ชาวไทยน่าจะเป็นกระแสหลักของธุรกิจโรงพยาบาล

Advertisment

นายแพทย์พิชญยังประเมินกันว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ภาพการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลจะยังคงแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคา แพ็กเกจ โปรโมชั่นที่ถูกลง เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวไทยมากขึ้น ปี 2564 ในแง่ของการเติบโตอาจจะยังมีให้เห็นไม่มากนัก จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 น่าจะเห็นการเติบโตเป็นส่วนใหญ่

“ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนแฝงสูงมาก ในกลุ่มโรงพยาบาลที่คนไข้ลดลงมาก การปรับลดราคา แม้จะไม่มีกำไรหรือมีกำไรเพียงเล็กน้อยก็ต้องทำเพื่อจะได้นำมาช่วยค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการ” นายแพทย์พิชญกล่าวและว่า

จากการเกิดการระบาดรอบใหม่และการเข้าถึงวัคซีนและการเกิดภูมิคุ้มกันระดับชุมชนยังไม่เกิดขึ้น จะทำให้การชะลอการเดินทางเข้ามาของคนไข้ต่างชาติก็น่าจะต้องเลื่อนออกไปอีก และส่งผลต่อโรงพยาบาลที่พึ่งพาคนไข้ต่างชาติ

ส่วนโรงพยาบาลที่เน้นเจาะกลุ่มคนไทยก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เกิดความมั่นใจในการเข้ารับการรักษา ขณะเดียวกันก็จะมุ่งการสร้างรายได้อื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น การร่วมมือกับภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ในการให้บริการตรวจหาเชื้อ จัดตั้งสถานที่พักเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชัย บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จะยังเหนื่อยอยู่ และคาดว่ายังจะเห็นสงครามราคา แพ็กเกจตรวจสุขภาพ ฯลฯ

อะไรที่ช่วยสร้างรายได้ก็ต้องทำ หลาย ๆ ค่ายอาจจะหันมาให้ความสนใจกับการเข้าร่วมโครงการเป็นคู่สัญญาในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดกลาง ๆ เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการกับประกันสังคมจะช่วยให้โรงพยาบาลมีรายรับที่แน่นอน ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

สยายปีกบุก CLMV

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG หรือกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนประสบกับ 2 ปัญหาใหญ่ ๆ คือ ประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในโรงพยาบาลน้อยลง รวมถึงชาวต่างชาติที่หายไป และทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน (ยกเว้นโรงพยาบาลที่รับประกันสังคม) ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลมีแนวโน้มการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้หลาย ๆ ค่ายมองหาโอกาสทางการเติบโตใหม่ ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มธนบุรีที่มีแผนขยายการลงทุนไปกัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว มาเลเซีย และจีน ซึ่งจะเป็นการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ในท้องถิ่น เช่น ในเมียนมา ธนบุรี ถือหุ้นในสัดส่วน 40%, จีน 45% ส่วนในมาเลเซีย อยู่ระหว่างการเจรจาพาร์ตเนอร์ โดยโรงพยาบาลธนบุรีจะรับหน้าที่หลักคือการบริหารจัดการ

“เหตุผลที่กลุ่มธนบุรีสนใจและขยายธุรกิจในกล่มประเทศดังกล่าว เนื่องจากโครงสร้างระบบเฮลท์แคร์ของประเทศเพื่อนบ้านยังล้าหลังกว่าไทยอยู่มาก ประกอบกับประเทศเหล่านี้ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าไทยมาตลอด 7-8 ปี ทำให้มองเห็นโอกาสทางการลงทุน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มบางกอกเชน ฮอสปิทอล เจ้าของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ได้ทุ่มงบฯลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 110 เตียง จับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนระดับกลาง-บน ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างเป็นทางการในต้นไตรมาสที่ 2

เช่นเดียวกับโรงพยาบาลรามคำแหง ที่มีการร่วมลงทุนในบริษัท โรงพยาบาลเวียงจันน์ ราม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเปิดโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง ที่กรุงเวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,200 ล้านลาท บนพื้นที่กว่า 8 ไร่ คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในปี 2565