อย.บูมอาหารฟังก์ชั่น ออกประกาศหนุนการกล่าวอ้างทางสุขภาพ 3 ลักษณะ

ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด
ภาพจาก pexels โดย karolina grabowska

อย. ออกประกาศหนุนการกล่าวอ้างทางสุขภาพของ “อาหารฟังก์ชั่น” จำนวน 3 ลักษณะ 147 ข้อความ ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารให้ อย. ประเมิน หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ หลังตลาดอาหารฟังก์ชั่นไทยมูลค่าแตะ 1 แสนล้าน โต 8%

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2567 อาหารฟังก์ชั่นมีมูลค่าตลาดในประเทศสูงถึง 100,000 ล้านบาท และเติบโต 8% รวมถึงมีมูลค่าการส่งออก 128,000 ล้านบาท เติบโต 9% สะท้อนถึงความสนใจจากทั้งในไทยและทั่วโลก

โดยการแสดงฉลากและการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นจุดขายที่สำคัญซึ่งตอบกระแสความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claims) บนฉลากต้องได้รับการพิสูจน์ เป็นที่ยอมรับ และน่าเชื่อถือ

อย.จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 447 พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยและประโยชน์จากการบริโภค พร้อมอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมอาหารฟังก์ชั่น ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567

Advertisment

โดยในบัญชีท้ายประกาศ กำหนดข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Positive List) 3 ลักษณะ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำข้อความเหล่านี้ไปใช้ในการแสดงฉลาก และขอโฆษณาได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารให้ อย.ประเมิน เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล ได้แก่

1.การกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร 28 รายการ จำนวน 135 ข้อความ เช่น “โปรตีนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย” “วิตามินซีมีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ” เป็นต้น

2.การกล่าวอ้างหน้าที่อื่นของ 6 ส่วนประกอบของอาหาร จำนวน 8 ข้อความ เช่น “เบต้า-กลูแคนจากข้าวโอ๊ต/ข้าวบาร์เลย์ มีส่วนช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล” “โคลีนมีส่วนช่วยในเมตาบอลิซึ่มปกติของไขมัน” เป็นต้น

3.การกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคของ 2 ส่วนประกอบของอาหาร จำนวน 4 ข้อความ เช่น “อาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ” เป็นต้น

Advertisment

สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะกล่าวอ้างทางสุขภาพที่นอกเหนือจากบัญชีท้ายประกาศนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นรายงานผลการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพต่อหน่วยงานที่ขึ้นบัญชีกับ อย. ซึ่ง อย.จะพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณี

รองเลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า อย.มีแผนในการเพิ่มข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของสารอาหารและสารต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการประเมินทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการในกลุ่มอาหารฟังก์ชั่น ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าและเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป