กรมควบคุมโรค แจงกรณีมีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 120 ราย/สัปดาห์ ไม่เป็นความจริง

โควิด

กรมควบคุมโรค แจงกรณีมีการรายงานข่าวพบผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 120 รายต่อสัปดาห์ ไม่เป็นความจริง แท้จริงแล้วพบผู้เสียชีวิต 16 รายต่อสัปดาห์ แนวโน้มยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ย้ำคนไทยปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีมีรายงานข่าวในสื่อออนไลน์ว่าพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 120 รายต่อสัปดาห์นั้น ไม่เป็นความจริง กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล 1,882 ราย เฉลี่ย 269 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 679 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 281 ราย และเสียชีวิต 16 ราย

โดยผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลการติดตามโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีลักษณะการระบาดเป็นฤดูกาลที่สัมพันธ์กับช่วงกิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจำนวนการป่วยรายสัปดาห์จากโควิดจะยังเพิ่มขึ้นและน่าจะสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราป่วยตายของโรคนี้ในภาพรวมเท่ากับร้อยละ 0.04 ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราป่วยตายในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 2.16 (ข้อมูล มิ.ย. 2564) ซึ่งสะท้อนว่าความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากร ร่วมกับสายพันธุ์ไม่รุนแรง

นอกจากนี้ อัตราป่วยตายเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยในเท่ากับร้อยละ 0.7 ซึ่งลดลง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าภาระโรคในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลทั่วประเทศยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี

Advertisment
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค

ดังนั้น ขอเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง และเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ ซึ่งหากป่วยอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ และหากมีอาการสงสัยป่วยควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK เพื่อไม่เป็นการนำเชื้อกลับไปติดกลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันตนเองและระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก โดยประชาชนทั่วไปควรเน้นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หากมีอาการไข้ ไอ ให้สวมหน้ากากอนามัย

เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หากสงสัยป่วยควรตรวจด้วย ATK หากผลเป็นบวกให้รีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญหากพบว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการป่วยควรเลี่ยงการอยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608

นายแพทย์ธงชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจติดตามข้อมูลสถานการณ์โรค ทั้งโรคโควิด-19 และโรคติดต่อในระบบเฝ้าระวังต่าง ๆ ปัจจุบันกรมควบคุมโรคมีระบบ Digital Disease Surveillance (DDS) ซึ่งเป็นข้อมูลเปิดเผยที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนของกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Advertisment

โควิด 19