เซตซีโร่ “กัญชา” ตลาดวาย…สินค้าทยอยลาโรง

คืนกัญชาสู่ยาเสพติด

นโยบายการนำ “กัญชา” กลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 อีกครั้ง หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินการ โดยขีดเส้นตายให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และให้เฉพาะการใช้กัญชาในทางการแพทย์เท่านั้น

นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ของนโยบายกัญชาเสรีที่เคยเฟื่องฟูและทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์อย่างมากมาย ว่ากันว่า นี่คือพืชเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งยุคเลยทีเดียว

การประกาศ ปลดล็อกกัญชา กัญชง จากบัญชียาเสพติดให้โทษ ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย และเป็นตัวกระตุ้นความสนใจให้กับประชาชนและสาธารณชนอย่างมาก

ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนจากภาพการแห่ปลูกกัญชาที่มีให้เห็นแทบทุกจังหวัด การยื่นจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา การเปิดร้านเพื่อให้บริการกัญชาที่มีอยู่เกลื่อนเมือง การพัฒนาหรือแปรรูปกัญชาเป็นสินค้าต่าง ๆ ออกมาจำหน่าย โดยเฉพาะในช่องทางร้านสะดวกซื้อที่เป็น “ตลาดแมส” ที่มีให้เห็นสินค้ากัญชาบนเชลฟ์หลายรายการ ทั้งน้ำดื่ม น้ำผลไม้ มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว ซอสพริก

นี่ยังไม่นับรวมถึงสินค้าที่บรรดาซัพพลายเออร์ผลิตขึ้นมาเจาะกลุ่มเป้าหมายผ่านทางแฟลตฟอร์มออนไลน์และช่องทางอื่น ๆ ทั้งร้านอาหาร สปา คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ เยลลี่, ไอศกรีม, โซจู (ไม่มีแอลกอฮอล์), ป๊อปคอร์น, คอร์นเฟลก, น้ำซุปทำอาหาร, เนย, ชา, น้ำผึ้ง, เซรั่มทาผิว, น้ำมันนวด, เทียนหอม เป็นต้น

Advertisment

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการยื่นขอขึ้นทะเบียน/ใบอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 80 รายการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

แต่วันนี้ภาพดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไป จากนี้ไป “กัญชา” กำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่กำลังอัสดง

ถึงเวลาธุรกิจกัญชาลาโรง

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจกัญชารายหนึ่งฉายภาพของผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษอีกครั้งหนึ่งว่า จากนี้ไปธุรกิจกัญชาและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลาย ๆ อย่างจะต้องทยอยปิดตัวลงไป ยกเว้นที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชา ร้านจำหน่ายสินค้ากัญชาที่เปิดให้บริการตามย่านสถานบันเทิง อาทิ ย่านถนนสุขุมวิท ข้าวสาร ฯลฯ รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยว ทั้งพัทยา กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งรวม ๆ แล้วคาดว่าจะเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้านค้า แพลตฟอร์มค้าปลีกสินค้ากัญชาออนไลน์ รวมถึงสินค้าต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา

สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการคอนซูเมอร์โปรดักต์ที่ยอมรับว่า ตอนนี้สภาพตลาดสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาที่วางจำหน่ายในตลาดมีตัวเลขตกลงไปมาก ในแง่ของผู้บริโภคตลาดมันวายแล้ว ซึ่งบริษัทกำลังคุยกับช่องทางจำหน่ายว่าจะยกเลิกการผลิตและเลิกขาย ตอนนี้รสชาติไหน ฉลากหมด ขวดหมด วัตถุดิบหมดก็เลิก นอกจากนี้ก็มีสแน็กบางตัวที่เลิกขายมาระยะหนึ่งแล้ว และตอนนี้ในตลาดก็แทบจะไม่มีสินค้าตัวไหนเหลืออยู่แล้ว หรืออาจจะมีเหลืออยู่บ้างแต่คงไม่มากและเมื่อหมดแล้วก็คงไม่มีใครผลิตเข้ามาทำตลาดเพิ่ม ที่ผ่านมาสินค้าแทบทุกตัวที่วางจำหน่ายในตลาดยอดขายลดลงไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงแรก ๆ ที่เป็น
กระแสฟีเวอร์

Advertisment

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดจากการสำรวจร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต หลายแห่งในกรุงเทพฯและนนทบุรี พบว่าหลายแห่งไม่มีสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาวางจำหน่ายแล้ว ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งที่ยังมีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาวางจำหน่ายอยู่ 2-3 แบรนด์ และมีการจัดรายการส่งเสริมการขายในลักษณะ ซื้อ 2 ชิ้นถูกกว่า

และจากการตรวจสอบเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าของบริษัทผู้ผลิตซอสปรุงรสแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่งก็พบว่า ยังมีการจำหน่ายซอสปรุงรสประเภทต่าง ๆ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมประมาณ 19-20 รายการ และในเว็บไซต์ยังระบุด้วยว่า มีสินค้า (กัญชา) อะไรบ้างที่หมดชั่วคราว เช่น ซอสพริกเขียว น้ำจิ้มสุกี้ยากี้ น้ำจิ้มซีฟู้ด ซอสพริกดำ ซอสพริกเหลือง เป็นต้น

“เซตซีโร่” กัญชาครั้งใหญ่

นอกจากนี้ จากอัพเดตสถิติจำนวนใบอนุญาตสำหรับกัญชา จากกองควบคุมยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนใบอนุญาตทั้งหมด 3,008 รายการ จำนวนสถานที่ทั้งหมด 3,473 แห่ง แบ่งเป็น 1.ครอบครอง จำนวนใบอนุญาต 129 รายการ 2.นำเข้า จำนวนใบอนุญาต 12 รายการ 3.ผลิต/ปลูก จำนวนใบอนุญาต 881 รายการ (จำนวนสถานที่ 1,345 แห่ง) 4.จำหน่าย จำนวนใบอนุญาต 1,928 รายการ 5.ส่งออก จำนวนใบอนุญาต 1 รายการ 6.ผลิต/ปรุง จำนวนใบอนุญาต 7 รายการ และ 7.ผลิต/แปรรูป-สกัด จำนวนใบอนุญาต 41 รายการ

เทียบกับช่วงเมื่อปลายธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จากเว็บไซต์ของ อย.ระบุว่า ได้ออกใบอนุญาตไปแล้ว 2,782 รายการ แบ่งเป็น 1.ครอบครอง 570 รายการ 2.นำเข้า 20 รายการ 3.จำหน่าย 1,801 รายการ 4. ผลิต/ปลูก 342 รายการ 5.ผลิต/ปรุง 6 รายการ และ 6.ผลิต/แปรรูป-สกัด 43 รายการ

โดยหากเมื่อโฟกัสเฉพาะใบอนุญาต ผลิต/ปลูก ที่มี 342 รายการ ดังกล่าว รวมพื้นที่ขอปลูก 87,716 ตารางเมตร จำนวน 197,811 ต้น โดยจังหวัดที่มีจำนวนใบอนุญาตมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บุรีรัมย์ จำนวนใบอนุญาต 32 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 13,447 ตารางเมตร จำนวน 39,355 ต้น 2.ร้อยเอ็ด ใบอนุญาต 31 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 4,152 ตารางเมตร จำนวน 4,226 ต้น 3.สกลนคร ใบอนุญาต 19 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 3,796 ตารางเมตร จำนวน 7,740 ต้น 4.นครราชสีมา ใบอนุญาต 15 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 5,737 ตารางเมตร จำนวน 13,433 ต้น และ 5.อุทัยธานี ใบอนุญาต 15 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 985 ตารางเมตร จำนวน 1,200 ต้น

แน่นอนว่า ผลจากการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดที่กำลังจะเกิดขึ้น ท้ายที่สุดก็จะทำให้ใบอนุญาตต่าง ๆ เหล่านี้ลดลงไปด้วย

ถือเป็นการ “เซตซีโร่” กัญชาครั้งใหญ่…ต้องติดตามกันต่อไป