สมาคมผลไม้ฯชุมพร วอนชาวใต้อย่าตื่นข่าวจีนพบโควิด รีบตัดทุเรียนอ่อนขาย

สมาคมชาวสวนไม้ผลชุมพรแจงกรณีจีนพบเชื้อโควิดบนบรรจุภัณฑ์ทุเรียนไทย วอนสวนภาคใต้อย่าตื่นข่าวเร่งตัดทุเรียนอ่อน พร้อมทำความสะอาด สุ่มตรวจเชิงรุกแรงงานเรียกความเชื่อมั่น 

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 สมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ได้ออกประกาศสรุปได้ว่า สืบเนื่องจากมีข่าวการตรวจพบเชื้อโควิด-19 บนภายนอกบรรจุภัณฑ์ของทุเรียนไทยที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดได้ปิดล้งรับซื้อทุเรียนระยะหนึ่งนั้น

สมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ขอให้ข้อมูลดังนี้ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2564 เมืองก้านโจว เขตจางกง มณฑลเจียงซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับรายงานผลการตรวจพบนิวคลีอิคของเชื้อโควิด -19 จากการสุ่มตรวจตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ ในทุเรียนนำเข้าจากประเทศไทย มีผลเป็นบวก จากการตรวจสอบสินค้าจำนวน 30 กล่อง จึงถูกเก็บไว้ในโกดังเพื่อควบคุม และผู้สัมผัสทั้งหมดถูกกักตัวแล้วทำ การตรวจสอบเชื้อโรค พบผลเป็นลบ พื้นที่ที่เกี่ยวข้องและผลไม้ทั้งหมดถูกฆ่าเชื้อ 

จากนั้นศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของเขตจางกงได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการเลือกซื้อผลไม้นำเข้าจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ซื้อจากแหล่งที่ไม่รู้จัก หรือ ออนไลน์ หรือจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงขณะซื้อและมีมาตรการสุขอนามัยหลังการสัมผัส ซึ่งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่งได้ประสานงานกับศุลกากรแห่งชาติจีนจนทราบว่า กรณีดังกล่าวมิได้เป็นการตรวจพบนำเข้าที่ด่าน แต่เป็นการตรวจพบในพื้นที่ จึงไม่ได้ประกาศระงับการนำเข้าสำหรับผู้ประกอบการที่ตรวจเจอปัญหาในเว็บไซต์ของศุลกากร 

Advertisment

ขณะเดียวกันการเผยแพร่ข่าวนี้ผ่านสื่อต่างๆ ของจีนอาจส่งผลกระทบ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกลัวและไม่กล้าซื้อทุเรียนจากไทยเพื่อบริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าของทุเรียนจากผู้นำเข้าของจีน เนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในการตรวจพบเชื้อโควิด-19 บนเชอร์รี่นำเข้าจากประเทศชิลี เมื่อปี 2563 ทำให้การนำเข้าเชอร์รี่จากชิลีลดลงอย่างมาก

ดังนั้น ทางสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ขอชี้แจงให้ทราบว่า ตามที่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้จีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หากแรงงานติดเชื้อจะเป็นสาเหตุทำให้มีเชื้อติดบนบรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ส่งออกไปประเทศจีน ประเทศจีนยังเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจประเมิน โรงงาน สินค้าแช่เย็นและแช่แข็งของไทย ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ส่งออกไปประเทศจีน และติดตามตรวจสอบมาตรการควบคุมและป้องกันเชื้อโควิด-19ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานรัฐของไทยทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ต้องหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และป้องกันผลกระทบในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย 

นอกจากนั้น สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้สมาชิกทุกล้งปิดล้งหยุดรับซื้อทุเรียนในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2564 เพื่อหยุดทำความสะอาดล้งอย่างจริงจัง ตรวจเชื้อโควิดพนักงานภายในล้งทุกคน มีผลยืนยันเป็นภาพถ่าย หรือ วีดีโอระหว่างการตรวจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม หากพบพนักงานติดเชื้อโควิด – 19 ให้ปิดทำการและแก้ไขกักตัวผู้ติดเชื้อทันที

สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเชื่อมั่นชาวสวนทุเรียนภาคใต้ว่าปัจจุบันทางการจีน มิได้ห้ามนำเข้าทุเรียนไทยทั้งหมดแต่อย่างใด เพียงแต่ห้ามบางล้งที่สุ่มเสี่ยง ตรวจพบนิวคลีอิกแล้วผลเป็นบวกเท่านั้น และขอแจ้งให้ชาวสวนไม้ผลทราบสาเหตุของการหยุดรับซื้อทุเรียนครั้งนี้เพื่อเคลียร์สินค้า เพื่อทำความสะอาดล้งคัดกรองแรงงาน เฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้ทุเรียนที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่น ให้ประเทศปลายทาง และผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน 

Advertisment

ขอให้ชาวสวนทุเรียนจังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้อย่าตื่นตระหนก ในระยะ 4-5 วันนี้ ถ้าสามารถแขวนทุเรียนบนต้นได้ให้แขวนไว้ก่อน อย่าเพิ่งตัดออกจำหน่าย และให้รักษาคุณภาพทุเรียนตามระบบมาตรฐาน GAP ไว้เป็นสำคัญและอย่าตัดทุเรียนอ่อน เมื่อล้งเปิดรับซื้อทุเรียนอีกครั้งจะได้ทุเรียนคุณภาพส่งให้ลูกค้าเพื่อเกิดความประทับใจ มีการซื้อซ้ำ ทำให้กระตุ้นราคาขึ้นได้ หากล้งใดสามารถทำสะอาดล้งและตรวจสุขอนามัยของพนักงานเสร็จก่อน อาจเปิดรับซื้ทุเรียนได้เร็วขึ้น

คณะกรรมการชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพรไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ปรึกษาหารือองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ก่อนฤดูกาลส่งออกทุเรียนและมังคุดภาคใต้เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจการส่งออกทุเรียนและผลไม้ภาคใต้ ทั้งเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคตะวันออก มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อจัดหาวัคซีนให้บุคลกรที่ทำงานในธุรกิจส่งออก ทุเรียน และมังคุด ตลอดจนการป้องกันทุเรียนไม่ได้คุณภาพ โดยนายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ถูกแต่งตั้งเป็นคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางแก้ไขการกระจายผลผลิตทางการเกษตรจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตการเกษตรระดับจังหวัดปี 2564 และคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) พ.ศ.2559-2560 และ พ.ศ.2563-2564

“ทั้งนี้ได้แจ้งปัญหาและมาตรการการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการส่งออกทุเรียนและมังคุด ทั้งด้านแรงงาน คุณภาพทุเรียน และขอวัคซีนให้ผู้เกี่ยวข้อง ในธุรกิจการส่งออกดังกล่าว กับคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อทราบและดำเนินการต่อไป สมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ขอเป็นผู้ร่วมแก้ไข้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวสวนทุเรียนและมังคุดภาคใต้ ด้วยรักและห่วงใย คณะกรรมการสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร 17 สิงหาคม 2564”